ปภ.ระดม จนท.ขุดเจาะ-เป่าล้างบ่อบาดาลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลปฏิบัติการสูบส่งน้ำ - ขุดเจาะ – เป่าล้างบ่อบาดาล ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตรวมกว่า 100 คัน สนับสนุนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เน้นปฏิบัติการสูบน้ำเติมแหล่งน้ำในหมู่บ้าน ขุดเจาะบ่อน้ำตื้น และเป่าล้างบ่อบาดาล ในพื้นที่ 18 จังหวัด รวม 42 อำเภอ ขุดเจาะบ่อน้ำตื้นไปแล้ว 95 บ่อ เป่าล้างบ่อบาดาล 47 บ่อ และสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรแก่ประชาชนรวมกว่า 22,724 ครัวเรือน 96,907 คน พร้อมจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำ เติมน้ำไปยังจุดจ่ายน้ำกลางประจำหมู่บ้านตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
17 ม.ค.2563 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 20 จังหวัด 101 อำเภอ 559 ตำบล 4,781 หมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่ง ปภ.ได้จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้บริหารจัดการทรัพยากรเครื่องจักรกลที่มีอยู่ในพื้นที่เข้าสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตสนธิกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รวมกว่า 100 คัน อาทิ รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล 16 คัน รถบรรทุกน้ำ 6,000 ลิตร 9 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 2 คัน เครื่องสูบน้ำ 7 เครื่อง รถบรรทุก 36 คัน เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ โดยดำเนินการสูบน้ำจากแหล่งน้ำเข้าหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตร แจกจ่ายน้ำแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย นอกจากนี้ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา เขต 8 กำแพงเพชร เขต 12 สงขลา เขต 17 จันทบุรี อาทิ รถบรรทุกขนาดใหญ่ติดตั้งเครื่องยกพัฒนาบ่อบาดาล 2 คัน เครื่องเจาะบ่อน้ำตื้น 5 ชุด เข้าปฏิบัติการขุดเจาะ บ่อน้ำตื้นและป่าล้างบ่อบาดาลในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุทัยธานี สตูล และจันทบุรี รวม 142 บ่อ แยกเป็น บ่อน้ำตื้น 95 บ่อ และเป่าล้างบ่อบาดาล 47 บ่อ ขุดเจาะบ่อน้ำตื้นและการเป่าล้างบ่อบาดาลในพื้นที่จังหวัดประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค 18 จังหวัด รวม 42 อำเภอ ซึ่งได้ ขุดเจาะบ่อน้ำตื้นไปแล้ว 95 บ่อ เป่าล้างบ่อบาดาล 47 บ่อ และสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรแก่ประชาชนรวมกว่า 22,724 ครัวเรือน 96,907 คน
นายมณฑล กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการบริหารจัดการทรัพยากรเครื่องจักรกลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ได้สั่งการให้เคลื่อนย้ายอุปกรณ์เครื่องมือจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง เข้าสนับสนุนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เช่นขณะนี้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี ได้ส่งชุดเครื่องพัฒนาบ่อน้ำบาดาลสนับสนุนการเป่าล้างบ่อบาดาลในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ส่วนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น และศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี ส่งรถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล รถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง ร่วมปฏิบัติการสูบน้ำจากแหล่งน้ำเข้าบ่อพักระบบสูบน้ำชลประทานไปเก็บที่หนองลุละ สำหรับเป็นแหล่งต้นทุน ในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านสนับสนุนการใช้น้ำแก่ประชาชน สำหรับภารกิจการพัฒนาบ่อน้ำตื้นและการเป่าล้างบ่อบาดาล ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจาก ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา เขต 8 กำแพงเพชร เขต 12 สงขลา เขต 17 จันทบุรี อาทิ รถบรรทุกขนาดใหญ่ติดตั้งเครื่องยกพัฒนาบ่อบาดาล 2 คัน เครื่องเจาะบ่อน้ำตื้น 5 ชุด เข้าปฏิบัติการขุดเจาะบ่อน้ำตื้นและเป่าล้างบ่อบาดาลในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุทัยธานี สตูล และจันทบุรี โดยเน้นการปฏิบัติงานเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และอุทัยธานี เพื่อบรรเทาคความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่
“ปภ.ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยได้จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำ เติมน้ำไปยังจุดจ่ายน้ำกลางประจำหมู่บ้านตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และงดการนำนาปรังในช่วงฤดูแล้ง สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ” นายมณฑลกล่าวทิ้งท้าย