"ศจย."ร้องภาครัฐคุมราคาบุหรี่ ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ
"ศจย."ร้องภาครัฐคุมราคาบุหรี่ ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ เพราะการที่กรมสรรพสามิตปล่อยให้บุหรี่ลดราคากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงทำร้ายเด็กเท่านั้น แต่ยังทำร้ายสังคมไทยอย่างมหันต์ด้วย
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (ศจย.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในการจัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “WHO FCTC ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ”
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมว่า เนื่องด้วย วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ และจากคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ที่ว่า “ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบและป้องกันพวกเขาจากยาสูบและการใช้นิโคติน” นั้น ทาง ศจย.จึงจัดงานเสวนาวิชาการนี้ขึ้น เพื่อระดมนักวิชาการมาร่วมกันวิเคราะห์ช่องว่างการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก หรือ FCTC ว่าประเทศไทยมีมาตรการอย่างไรที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกรอบอนุสัญญาฯให้มากที่สุด และเป็นการประชาสัมพันธ์เบื้องต้นในหลักสูตร CU MOOC ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือกับทาง ศจย. ในการทำหลักสูตรออนไลน์ “หัวข้อรู้จัก FCTC” เพื่อเป็นหลักสูตรที่รองรับให้กับ นักวิจัยและนักวิชาการ ตลอดจนบุคลากรทางด้านสุขภาพที่มีความสนใจในประเด็นการควบคุมยาสูบ
“ขอฝากให้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศ คำนึงถึงผลประโยชน์ของสุขภาพของเด็กและเยาวชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมยาสูบ และเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่เรามีต่อองค์การอนามัยโลกในเรื่องการควบคุมยาสูบ ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกได้มากที่สุด จึงสมควรผลักดันให้มีการออกระเบียบว่าด้วยการป้องกันการแทรกแซงนโยบายรัฐด้านการควบคุมยาสูบที่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อห้ามการให้เงินอุปถัมภ์หรือกิจกรรม CSR ของธุรกิจยาสูบในทุกกรณี การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อห้ามจำหน่ายบุหรี่ชูรสในประเทศไทย คงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามบริการ บุหรี่ไฟฟ้า และการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อลดการเข้าถึงของเยาวชน”ดร.วศิน กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.สุนิดา ปรีชาวงษ์ กลุ่มการวิจัยเพื่อการควบคุมยาสูบ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า FCTC คือ กฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ที่วางกฎเกณฑ์มาตรฐานการควบคุมยาสูบ เพื่อให้นานาชาติที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนำแนวทางตาม FCTC ไปปรับใช้กับประเทศของตน โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อสกัดกั้นมิให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแพร่กระจายไปทั่วโลก กรณีที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี หรือถ้าจะกล่าวให้ง่ายคือ มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามให้เป็นไปตาม กรอบมาตรการที่บัญญัติไว้ใน FCTC ดังนั้น การที่ FCTC มีบทบาทในการปกป้องเยาวชน เนื่องจากในแต่ละวันจะมีเด็กเริ่มต้นสูบบุหรี่มากกว่า 3,000 คน โดยมี 3 ปัจจัยที่ทำให้เด็กและเยาวชนเริ่มเป็นนักสูบหน้าใหม่ คือ ความไม่รู้ ความเย้ายวน และการเข้าถึง ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบจะมุ่งเป้าที่เยาวชน เพราะเป็นลูกค้าหน้าใหม่ ซึ่งขณะนี้มีบางประเทศที่กำหนดอายุสูงสุดในการซื้อบุหรี่ คือ ศรีลังกา ที่อายุ 24 ปี การควบคุมยาสูบ มียา 3 ขนานที่สมควรดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องตามที่ นพ.หทัย ชิตานนท์ เคยเสนอไว้ คือ การขึ้นภาษี การควบคุมการตลาด และมาตรการเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งยาทั้ง 3 ขนานนี้ ได้มีการบัญญัติไว้ชัดเจนใน FCTC
เช่นเดียวกับ นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่า เป้าหมายสำคัญของธุรกิจยาสูบคือ ทำให้การควบคุมการยาสูบของรัฐอ่อนแอ เพื่อสร้างผลกำไรจากผู้บริโภคยาสูบที่เพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งประเทศไทยยังมิได้ปฏิบัติตามพันธกรณีตาม FCTC มาตรา 5.3 อย่างครอบคลุมและครบถ้วนทุกด้าน ปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดทำระเบียบที่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ อาทิ สมาชิกรัฐสภา คณะกรรมการกฤษฎีกา ข้าราชการกรมสรรพสามิต พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มิได้ห้ามกิจกรรม CSR โดยมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น การบริจาค หรือการช่วยเหลือตามมนุษยธรรมในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง แต่จะต้องไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังพบการฝ่าฝืนอยู่ ในอนาคตควรมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อห้ามการให้เงินอุปถัมภ์หรือกิจกรรม CSR ของธุรกิจยาสูบในทุกกรณี
ขณะที่ ทพ.ญ.วิกุล วิสาลเสสถ์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เครือข่ายทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ กล่าวว่า จากเอกสารลับของอุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติ พบว่าเยาวชนเป็นเป้าหมายทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ โดยมุ่งเป้าที่เด็กอายุ 14 ปี เพราะยิ่งติดเมื่ออายุยังน้อยจะส่งผลให้กลายเป็นนักสูบที่ไม่สามารถเลิกได้ในระยะยาว ซึ่งงานวิจัยของ บริษัทบุหรี่จะใช้การชูรสในบุหรี่มาล่อลวงเยาวชน อย่างเช่น เมนทอล เชื่อมโยงกับอัตราการเริ่มใช้ยาสูบที่สูงขึ้น ความรู้สึกเย็นช่วยปกปิดความรุนแรงของควัน และรสชาติยาสูบ ผู้ใช้สูดดมเข้าไปลึกขึ้น การวิจัยชี้ว่าบุหรี่เมนทอลอาจเพิ่มการเสพติด ทำให้เลิกยากกว่า, เกิดปอดอักเสบรุนแรงมากกว่า ดังนั้น ทางแก้ปัญหาในการปกป้องเยาวชนจากการล่อลวงด้วยรสชาติของ อุตสาหกรรมยาสูบ สมควรต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อห้ามจำหน่ายบุหรี่ชูรสในประเทศไทย เฝ้าระวัง ติดตาม จับกุม การลักลอบจำหน่ายบุหรี่ชูรส ควบคุมสื่อต่างๆ และช่องทางที่วัยรุ่นจะเข้าถึงบุหรี่ชูรส ให้ความรู้เครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงพิษภัยของบุหรี่ชูรส เพิ่มศักยภาพเยาวชนไม่ให้ถูกลวงเป็นเหยื่ออุตสาหกรรมยาสูบ
ด้าน รองศาสตราจารย์ นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กลยุทธ์ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทำให้นักเรียนระดับประถมและมัธยมของสหรัฐอเมริกามีอัตราการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะรูปลักษณ์ภายนอกของผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัยและสารชูรสที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม มีการสำรวจพบว่าเยาวชน 97% จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติ ซึ่งในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะมีสารเคมีถึง 60 ชนิด การสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์จะส่งผลให้เยาวชนหันมาสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 4 เท่า ประเทศภาคีสมาชิกของ WHO-FCTC จำเป็นต้องควบคุมการปฏิบัติตามพันธะสัญญาตามมาตรา 16 ในการป้องกันไม่ให้มีการขายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แก่เยาวชนอย่างเข้มงวด ซึ่งสำหรับประเทศไทย การคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามขายและห้ามบริการจึงเป็นมาตรการที่ดีที่สุด
ปิดท้ายที่ รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ชี้ว่ามาตรการราคาและภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกชี้แนะมาตรการนี้เพื่อให้ยาสูบมีราคาสูงขึ้น แต่กระทรวงการคลังกลับทำให้บุหรี่หลายยี่ห้อมีราคาลดลง และเมื่อราคาบุหรี่ลดลงทำให้มีการนำเข้าบุหรี่มากขึ้น แย่งส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่ในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อชาวไร่ยาสูบด้วย ขณะเดียวกันยังส่งผลให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ลดลง จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเมื่อปี 2560 ทำให้เด็กเข้าถึงง่าย
“รัฐต้องควบคุมราคาบุหรี่ โดยไม่ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะการที่กรมสรรพสามิตปล่อยให้บุหรี่ลดราคากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงทำร้ายเด็กเท่านั้น แต่ยังทำร้ายสังคมไทยอย่างมหันต์ด้วย จึงเป็นเรื่องที่พลเอกปรยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องพิจารณาแก้ไขโดยด่วน” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว