![กรมทรัพยากรธรณี เตรียมเปิด "พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน" ปลายปีนี้ กรมทรัพยากรธรณี เตรียมเปิด "พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน" ปลายปีนี้](https://media.komchadluek.net/media/img/size1/2020/09/26/aahbbhfej8d9bceggfe6g.jpg?x-image-process=style/lg-webp)
กรมทรัพยากรธรณี เตรียมเปิด "พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน" ปลายปีนี้
กรมทรัพยากรธรณี โชว์ความพร้อม"พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน" ศูนย์กลางการเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงวิชาการด้านซากดึกดำบรรพ์ ที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ ก่อนทดลองเปิดให้ชมช่วงปลายปีนี้ เตรียมชูเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเปิด"พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน" จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ ในสังกัดกรมทรัพยากรธรณี แห่งที่ 7 ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้วเกือบ 100 % และคาดว่าจะสามารถทดลองเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมในช่วงปลายปีนี้
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
"พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน" ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่กว่า 14,000 ตารางเมตร มีอาคารสำหรับจัดแสดง และจัดกิจกรรม รวมทั้งสิ้น 13 โซนด้วยกัน อีกทั้งทำเลที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ติดกับแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาบริเวณเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย
"ไทรโลไบต์" สัตว์ดึกดำบรรพ์ อายุกว่า 500 ปี
"พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน" เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางวิชาการด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา คลังเก็บตัวอย่างสำหรับเก็บรักษาธรณีวัตถุที่ค้นพบในภาคใต้ และเป็นศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัยที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการด้านธรณีวิทยา สำหรับนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และประชาชนที่สนใจ ผู้เข้าชมจะได้รับความ รู้เบื้องต้นด้านธรณีวิทยาและยังสามารถชม Tree of Life เป็นภาพนูนต่ำของซากดึกดำบรรพ์ เช่น ไทรโลไบต์ นอติลอยด์ ฟอสซิลหอย (Posidonomya Gastropod Brachio) แอมโมไนด์ ไดโนเสาร์ ลิงสยาม และสโตมาโตไลต์รวมถึงหุ่นจำลองไดโนเสาร์ การกำเนิดของโลก ระบบสุริยะจักรวาล และส่วนประกอบของโลก ต่อเนื่องไปจนถึงการกำเนิดสุวรรณภูมิสัมผัสความหลากหลายทางทะเลดึกดำบรรพ์ชีวิตดึกดำบรรพ์จากทะเลสู่บก ตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิก ซึ่งได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ภาคใต้ และการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตมหายุคMesozoic จนถึงวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมหายุค Cenozoic อีกด้วย
การกำเนิดของโลก ระบบสุริยะจักรวาล
จากทะเล สู่บก
ทะเลดึกดำบรรพ์
พร้อมกันนั้นจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรณีสัณฐาน และอุทยานธรณีโลก การจำลองเรือให้ได้นั่งถ่ายภาพ การให้ความรู้เรื่องหิน ลำดับชั้นหินของภาคใต้ เรียนรู้การจำแนกหินประเภทต่างๆตลอดจนได้เห็นสัมผัสหินชนิดต่างๆที่พบในประเทศไทยของจริง ได้เรียนรู้วัฎจักรของหินซึ่งมีความสำคัญต่อโลกของเรา เรียนรู้ด้านแร่ธาตุ เนื่องจากในประเทศไทยมีแร่ธาตุเยอะตั้งแต่อดีต ชมความงามและสีสันอันน่าอัศจรรย์ของแร่ เรียนรู้เรื่องราวของแร่ ที่มารวมถึงแร่ทองคำภาคใต้ แนวคิดการเก็บสมบัติมีค่า เป็นสิ่งที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ประวัติการทำเหมือง กระบวนการกำเนิดแร่แบบต่างๆ การแบ่งกลุ่มแร่ตามส่วนประกอบทางเคมี และคุณสมบัติทางกายภาพของแร่ ประกอบด้วยตัวอย่างแร่ของจริงจำนวนมาก ได้ทราบถึงประโยชน์ของแร่ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเรา
เรือกอและจำลอง สามารถลงไปนั่งรูปเป็นที่ระลึกได้
เรียนรู้ความรู้เรื่องหิน ลำดับชั้นหิน
ส่วนจัดแสดงหินชนิดต่างๆ
แผนที่แสดงลักษณะของหิน แร่ธาตุที่พบในแต่ละพื้นที่ของไทย
เรียนรู้ถึงธรณีพิบัติภัยด้านต่างๆ ในรูปแบบนิทรรศการเสมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริงโดยการนำเสนอที่ทันสมัยเรื่องราวของภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยในรูปแบบหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา
ห้องจำลองเหตุการณ์แผ่นดินไหว
จำลองเหตุสึนามิ
จำลองอาคารบ้านเรือน จ.ภูเก็ต
วิถีชาวบ้านร่อนแร่
วิวัฒนาการยุคโบราณถึงปัจจุบัน
รวมทั้งยังมีห้องประชุมขนาดใหญ่พร้อมใช้งานในทุกรูปแบบมีห้องบรรยายที่มีมุมบรรยากาศที่สวยที่สุดมองเห็นแม่น้ำตาปีได้อย่างสวยงามซึ่งจะสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมได้อย่างแน่นอน