ยผ.แจงเปลี่ยนผังเมืองจังหวัดสงขลา เปิดกว้างฟังเสียงประชาชนเสมอ
ยผ.แจงเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาจากสีเขียวเป็นสีม่วงนั้น นอกจากจะปฏิบัติตามขั้นตอนของกฏหมายแล้ว ยังยึดมั่นนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเท่าเทียม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มและเปิดกว้างรับฟังเสียงประชาชนอยู่เสมอ
ตามที่ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น รวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือคัดค้านการเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาจากสีเขียว ซึ่งเป็นประเภทชนบทและเกษตรกรรรม เป็นสีม่วง เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลนาทับ ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ยผ.แก้ปัญหาผังเมืองอย่างเป็นระบบ เปิดพื้นที่ตาบอดเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของปชช.
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ขับเคลื่อน เนื่องจากเห็นว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาไม่มีความชอบธรรม
และไม่เป็นไปตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2548 ดังนั้น การดำเนินการของกรมโยธาธิการและผังเมือง(ยผ.) และสำนักงานจังหวัดสงขลาที่จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา ในวันที่ 28 กันยายน 2563
จึงเป็นการดำเนินการอันมิชอบ ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลบนฐานข้อมูลอันผิดพลาดที่ ศอ.บต.จัดทำขึ้น ทั้งยังผิดขั้นตอนตามพระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ.2562 จึงเสนอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานจังหวัดสงขลา ยุติกระบวนการทั้งหมดที่กำลังดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาจากสีเขียวให้เป็นสีม่วง เพียงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์กลุ่มทุนที่ต้องการใช้พื้นที่ อำเภอจะนะ ตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (รองอธิบดียผ.) ขอชี้แจงประเด็นการคัดค้านการเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 ดังนี้
1.ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เรื่องสรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2563 ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอเรื่องผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีประเด็นดังนี้
1.1 รับทราบและเห็นชอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ทั้ง 4 ประเภท การลงทุน (สวนอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคต เมืองอัจฉริยะ ท่าเรือน้ำลึก ศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า และศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด) และรายละเอียดการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อนำไปสู่การดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
1.2 ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดสงขลา ดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน 3 ตำบล (ตำบลนาทับ ตำบลสะกอม และตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา) ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของพื้นที่ตามแผนเร่งด่วน
การลงทุนของภาคเอกชนและผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป ทั้งนี้ ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ส่งผลรายงานผลการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนฯ ไปยังหน่วยงานเป็นการเร่งด่วน
1.3 ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประสานขับเคลื่อนมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ไปยังคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ ในฐานะกลไกเชิงนโยบายตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อพิจารณาเร่งรัดการดำเนินการของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับการลงทุนตามแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประสานจังหวัดสงขลาโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลาดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
2.ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาจังหวัดตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จึงต้องดำเนินการขอแก้ไขกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผังสอดคล้องกับแผนงานโครงการ 4 ประเภทการลงทุน ได้แก่ สวนอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคต
เมืองอัจฉริยะ ท่าเรือน้ำลึก ศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า และศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด โดยต้องนำประเด็นการขอแก้ไขกฎกระทรวงฯ เสนอ คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา คณะกรรมการผังเมือง เพื่อพิจารณาให้ความเห็น
โดยเมื่อคณะกรรมการผังเมืองให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องปิดประกาศ 30 วันโดยปิดประกาศแผนที่แสดงเขตของผังเมืองรวมที่แก้ไขและรายละเอียดของการแก้ไขไว้ในที่เปิดเผยภายในเขตของผังเมืองรวม โดยในประกาศให้มีคำเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ
3.ทั้งนี้ เครือข่ายจะนะรักษ์ท้องถิ่น หากมีความเห็นต่างอย่างไร ก็สามารถแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรได้ (ยื่นคำร้อง(เดิม)) ตามกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมืองพ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะบริเวณหรือเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดมีสิทธิในการแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในระยะเวลาที่ระบุในประกาศ เพื่อให้คณะกรรมการผังเมืองพิจารณาคำร้อง และจะได้มีการแจ้งผลการพิจารณาข้อคิดเห็นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป
" ผมยืนยันว่า ยผ.เปิดกว้าง และยังเปิดรับฟังเสียงของประชาชนทุกกลุ่ม สามารถแสดงความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางที่ยผ.เปิดไว้เสมอ" รองอธิบดียผ.กล่าว
ทั้งนี้ ตามนโยบายของกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.)มีแนวทางที่ชัดเจนว่าในการพัฒนาเมือง หรือ ออกแบบผังเมืองนั้น จะทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ในการเวนคืนที่ดิน แต่ช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดิน และสามารถพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเท่าเทียม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็น เพื่อแสวงหาทางเลือกที่ดีและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย