พม.มอบของขวัญปีใหม่ 2564 ให้กับกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ
พม.มอบของขวัญปีใหม่ 2564 ให้กับกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ
วันนี้ (23 ธ.ค. 63) เวลา 13.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการแถลงข่าว “งานพรปีใหม่ 2564 จากใจ กระทรวง พม.” เพื่อเปิดตัวของขวัญปีใหม่ 2564 ที่จะมอบความสุขให้กับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ และผู้ประสบปัญหาทางสังคม โดยมีผู้แทนจาก 1. กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) 2. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) 3. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) 4. กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) 5. สถาบันพัฒนาองค์การชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. 6. การเคหะแห่งชาติ (กคช.) 7. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) และ 8. สำนักงานปลัดกระทรวง พม. (สป.พม.) ร่วมการแถงข่าว พร้อมทั้งเปิดตัว “แอมบาสซาเดอร์” ของกระทรวง พม. ได้แก่ คุณปนัดดา วงศ์ผู้ดี (บุ๋ม) คุณเมทนี บุรณศิริ (นีโน่) คุณชาคริต แย้มนาม คุณฝน ธนสุนทร คุณสิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ (บิ๊นท์) และคุณสุพิชา กุญชร (ปีใหม่) ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กรุงเทพฯ
นายจุติ กล่าวว่า “งานพรปีใหม่ 2564 จากใจ กระทรวง พม.” เป็นการมอบของขวัญปีใหม่ ปี 2564 เพื่อส่งความสุขให้กับกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ โดยได้คัดเลือกกิจกรรมสำคัญตามภารกิจกระทรวง พม. ประกอบด้วย
ของขวัญชิ้นที่ 1 คือ การพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้แก่ 1) โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” จำนวน 20,000 หน่วย โดยการสร้างบ้านเช่าราคาถูก สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้บุกรุกในที่สาธารณะ ข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือข้าราชการเกษียณอายุ และประชาชนผู้มีรายได้น้อย จำนวน 20,000 หน่วย ราคาเช่าหลังละ 999 ถึง 3,500 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับรูปแบบบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ ดังนี้ แบบ (X) Studio เป็นบ้านสำหรับครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ/คนพิการ แบบ (A) Studio เป็นบ้านสำหรับผู้อาศัยอยู่ลำพัง แบบ (B) One Bed เป็นบ้านสำหรับผู้อาศัยอยู่ไม่เกิน 2 คน และแบบ (C) Two Bed เป็นบ้านสำหรับผู้อาศัยอยู่ 2-4 คน โดยกระจายโครงการในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งพิจารณาตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สามารถเช่าบ้านได้ในราคาประหยัด
ของขวัญชิ้นที่ 2 คือ 1300 ทั่วไทย สายด่วน พม. “สายด่วนสังคม สร้างความอุ่นใจ อยู่ใกล้ประชาชน” ได้แก่ 1) ปรับปรุงรูปแบบการให้บริการสายด่วน 1300 ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยกระจายการให้บริการสายด่วนครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด โดยตั้งอยู่ที่หน่วยงาน พม. ในจังหวัด (บ้านพักเด็กและครอบครัวประจำจังหวัด) 2) จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองสวัสดิภาพ ให้คำปรึกษา แนะนำ แก่ผู้ประสบปัญหาทางสังคม ภายใน 24 ชม. โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ในพื้นที่ (ทีม One Home พม. จังหวัด) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม โดยทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาความครอบคลุมในทุกมิติ ผ่านกระบวนการจัดสวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์และแผนการจัดการรายกรณี (Case Manager) โดยจัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 4) บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา และ 5) ติดตามประเมินผลการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
ของขวัญชิ้นที่ 3 คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ได้แก่ 1) นำฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ผู้ประสบปัญหาทางสังคม และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการวิเคราะห์สภาพปัญหารายครัวเรือน ก่อนวางแผนการให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม 2) จัดตั้งคณะทำงานในพื้นที่ ประกอบด้วย ทีมสหวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาชน ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวางแผนการให้ความช่วยเหลือ ผ่านกระบวนการจัดสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์และการจัดการรายกรณี (Case Manager) โดยจัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว 3) บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยยึดผู้ประสบปัญหาฯ เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ การจัดหาทุนการศึกษา การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักอาศัย การดูแลสุขภาพ การพัฒนาทักษะ ความรู้ การสร้างอาชีพ ส่งเสริมให้มีงานทำ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ และ 4) ในปี 2564 มีเป้าหมายจำนวน 1,000 ครัวเรือน
ของขวัญชิ้นที่ 4 คือ พม. สร้างอาชีพครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,000 ราย ได้แก่ 1) จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ด้านอาหาร และการวางแผนธุรกิจเบื้องต้น ให้แก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 1,000 ราย 2) จัดบริการในการดูแลบุตรให้แก่ผู้รับการอบรมฯ 3) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ เทสโก้ โลตัส ในการจัดหาแหล่งทุนให้กับผู้ที่ผ่านการอบรมฯ และ 4) คัดเลือกครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ผ่านการอบรมฯ จากทั่วประเทศ เพื่อรับการสนับสนุนอุปกรณ์และทุนประกอบอาชีพ จากเทสโก้ โลตัส รวมมูลค่า 30,000 บาทต่อคน
ของขวัญชิ้นที่ 5 คือ รายการโทรทัศน์ สำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการ ได้แก่ 1) จัดทำความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ อาทิ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 เพื่อจัดทำรายการโทรทัศน์ที่เป็นมิตร สร้างกำลังใจ สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ และคนพิการ และ 2) มีรายการโทรทัศน์ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการให้ความรู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวกับสวัสดิการและบริการสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุและคนพิการ
ของขวัญชิ้นที่ 6 คือ ร่วมสานพลัง มอบของขวัญแก่น้อง จำนวน 6,464 ชิ้น ได้แก่ 1) ประชาสัมพันธ์รับบริจาคของขวัญให้แก่เด็กในสถานรองรับของกระทรวง พม. ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเด็กที่ประสบปัญหาและขาดโอกาสทางสังคม ผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวง พม. และ ดย. 2) เปิดโอกาสให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการมอบของขวัญให้กับเด็กในสถานรองรับของกระทรวง พม. จำนวน 107 แห่ง เพื่อแสดงออกถึงความห่วงใย ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน และ 3)จัดกิจกรรมมอบของขวัญแก่เด็กในสถานรองรับ พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค. 64
ของขวัญชิ้นที่ 7 คือ ปรับปรุง/ซ่อมแซมบ้าน สำหรับกลุ่มเปราะบาง จำนวน 25,064 หลัง ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส ในวงเงิน 20,000 – 40,000 บาทต่อหลัง (ตามระเบียบหลักเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงาน) ดังนี้ พอช. จำนวน 15,000 หลัง ผส. จำนวน 4,000 หลัง พก. จำนวน 4,000 หลัง พส. จำนวน 2,000 หลัง กคช. จำนวน 64 หลัง รวมจำนวนทั้งสิ้น 25,064 หลัง
และของขวัญชิ้นที่ 8 คือ จัดบริการ “จิตอาสา” เพื่ออำนวยความสะดวกบริการรถเข็นวีลแชร์ให้แก่กลุ่มคนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือระหว่างการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีจุดบริการ ได้แก่ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) สถานีขนส่งผู้โดยสารสายตะวันออกกรุงเทพฯ (เอกมัย) และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ถึง 3 มกราคม 2564