เริ่มแล้ววันนี้ ขึ้นทะเบียนต่างด้าว 3 สัญชาติกลุ่มผ่อนผัน
ก.แรงงาน เปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และคนต่างด้าวลงทะเบียนแจ้งข้อมูลบุคคลผ่านระบบออนไลน์ สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้รับการผ่อนผัน เริ่มแล้ววันนี้ 15 ม.ค. 64 หมดเขต 13 ก.พ.64
15 ม.ค.64 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การผ่อนผันครั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทยและผู้ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด มีการปรับแผนปฏิบัติการเชิงรุก อีกทั้งเพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมกับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จากภายนอกประเทศ
ซึ่งมีเป้าหมายเป็นคนต่างด้าว 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน
2.คนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน
3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี
โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e - workpermit.doe.go.th ได้ตั้งแต่ วันที่ 15 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นขั้นตอนแรก เพื่อเข้าสู่กระบวนการ ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติ
และจากกรณีที่เครือข่ายแรงงานข้ามชาติออกมาเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาระบบการละทะเบียนแรงงานผ่าน http://e-workpermit.doe.go.th เนื่องจากไม่สามารถลงทะเบียนผ่านมือถือได้ และแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ลงทะเบียน ดังนั้นแรงงานข้ามชาติไม่สามารถลงทะเบียนด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปจ้างนายหน้าลงทะเบียนให้ ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น และทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ ไม่อยากเข้าระบบการลงทะเบียนครั้งนี้ เรื่องนี้ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลก็คือเราต้องการให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าสู่กระบวนการตรวจโควิด19 ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมโรค ที่มองว่าแรงงานข้ามชาติจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์
นายสุชาติยังบอกด้วยว่า ค่าใช้จ่ายที่แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายนั้นไม่ได้สูงมากอย่างที่เป็นข่าว เพราะหากแยกแต่ละหน่วยงานที่รับผิดจะเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายปกติที่แรงงานต้องจ่ายอยู่เดิมทุกปี เช่น กระทรวงแรงงานเก็บค่าใบอนุญาตทำงาน 1,900 บาท ได้ทำงาน 2 ปี ส่วนค่าตรวจสุขภาพซึ่งรวมค่าตรวจโควิด19 และค่าประกันสุขภาพปีละ 3,200บาท จะเป็นของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนนี้ก็สามารถเบิกคืนได้เมื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม และการผ่อนผันครั้งนี้ยังได้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่า ตม.ปีละ 1,900 บาท 2 ปี ส่วนเรื่องค่าตรวจโควิด19 กระทรวงสาธารณสุขเป็นคนกำหนด
ส่วนเรื่องที่ว่าแรงงานที่ไม่มีนายจ้างลงทะเบียนออนไลน์ไม่ได้ทำไม่เป็นก็ไม่ต้องกังวลเพราะกระทรวงแรงงานมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้คำแนะนำ สามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือได้ที่กรมการจัดหางานทุกจังหวัด เรามีล่ามให้ 4 ภาษา ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา และภาษาอังกฤษ หรือโทรไปที่สายด่วน 1506
สำหรับขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
- กรณีคนต่างด้าวมีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
1.แจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว - ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารใบแจ้งชำระเงินค่าใบอนุญาตทำงาน ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564
2.ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ - ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม กิจการทั่วไป 7,200 บาท และกิจการประมงทะเล 7,300 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564
3.ยื่นคำขออนุญาตทำงาน - ให้นายจ้างชำระค่าคำขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564
4.จัดทำทะเบียนประวัติ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง โดยนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปยื่นเป็นหลักฐาน ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรชมพู 60 บาท
- กรณีคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
1. คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th - ให้คนต่างด้าวแนบรูปถ่าย และพิมพ์หลักฐานการรับแจ้งข้อมูลบุคคลจากระบบออนไลน์ ซึ่งให้บริการ 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564
2. ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ - คนต่างด้าวใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม 7,200 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564
3.จัดทำทะเบียนประวัติ - คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค จะต้องไปทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรสีชมพู 60 บาท (ในขั้นตอนนี้คนต่างด้าวยังไม่ได้รับบัตรสีชมพู)
4.คนต่างด้าวหานายจ้างและยื่นคำขออนุญาตทำงาน - ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารจากในระบบออนไลน์ เพื่อไปชำระค่าคำขอรับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564
5.ปรับปรุงทะเบียนประวัติ - คนต่างด้าวนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานกิจการประมงทะเล ต้องไปทำหนังสือคนประจำเรือ หรือ Sea book ณ กรมประมง เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และเมื่อกรมประมงพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ เป็นหลักฐานใช้คู่กับบัตรสีชมพูในการอยู่และทำงานในประเทศ
ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ