ม.มหิดล ริเริ่มใช้ระบบ "MU-SCAN"ในแอปพลิเคชัน We Mahidol ตรวจสอบพื้นที่ปลอดภัย Covid-19
จากวิกฤติ Covid-19 ที่ผ่านมาได้ทำให้อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาผู้เรียนได้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีออนไลน์กันมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มใช้ระบบ"MU-SCAN"ในแอปพลิเคชัน We Mahidol ซึ่งตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่อยู่ในวงจรชีวิต (life cycle) ของมหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา แอปพลิเคชัน We Mahidol ได้มีบทบาทอย่างครบวงจร โดยเป็น student journey สำหรับผู้ใช้ (user) ในทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่ยังไม่เข้ามาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปดูข้อมูล Open House การรับสมัคร และรายละเอียดหลักสูตรของแต่ละคณะ/สถาบันเพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าสมัครเรียน จนเมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลก็สามารถใช้แอปพลิเคชัน We Mahidol เพื่อแสดง Virtual ID แทนบัตรประจำตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อแสดงตัวตนในการเข้ารับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ การรักษาพยาบาล การเข้าใช้บริการห้องสมุด ตลอดจนใช้เป็นส่วนลดอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ฯลฯ และเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วก็สามารถเข้ามาใช้บริการในส่วนของ Alumni หรือศิษย์เก่า ที่สามารถเข้ามา upskill - reskill ทักษะต่างๆ เพิ่มเติมผ่านระบบ MUx ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้จากแอปพลิเคชัน We Mahidol
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ม.มหิดล ได้ที่ 1 ของไทย ในภาพรวม และ ด้านวิจัย
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการวางแผนเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาและบุคลากรไว้เป็นอันดับหนึ่ง โดยได้มีการริเริ่มระบบ MU-SCAN ขึ้น โดยได้แนวคิดจากแอปพลิเคชันต่างๆ ของรัฐบาลที่ให้ประชาชนใช้ check in เพื่อเข้าใช้บริการตามสถานที่ต่างๆ ซึ่ง user สามารถเปิดแอปพลิเคชัน We Mahidol แล้วกดสแกน QR Code เพื่อ check in เข้าพื้นที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในแอปพลิเคชัน We Mahidol จะมีการบันทึกข้อมูลโดยอัตโนมัติว่านักศึกษารหัสใดเข้ามาในพื้นที่ โดยเป็นการแสดงข้อมูลภายในมหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้า user เป็นคนในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล หรือเป็นผู้ที่มีแอปพลิเคชัน We Mahidol อยู่แล้ว ระบบจะสามารถทราบทันทีว่า user เป็นใครเข้ามาในพื้นที่ ถ้า user เป็นบุคคลภายนอก ก็ยังสามารถใช้ได้โดยเปิดกล้องธรรมดาของโทรศัพท์มือถือสแกน QR Code และกรอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ โดยหากพบว่ามีผู้ป่วย Covid-19 อยู่ในพื้นที่ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลจะสามารถติดต่อเพื่อแจ้งกับ user ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ป่วยได้ทันที
MU-Scan ยังมีระบบแจ้งเตือน ในกรณีที่ user ลืม check out ออกจากพื้นที่ โดยระบบจะทำการแจ้งเตือนเป็นรูปแบบ Notification ไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ที่เข้า check in ในพื้นที่ เพื่อสอบถามว่า user ยังอยู่ในพื้นที่หรือไม่ หากยังอยู่ในพื้นที่ user ก็ทำการกดยืนยัน หากไม่อยู่ในพื้นที่แล้ว ระบบจะ check out ให้อัตโนมัติ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังนำระบบ MU-SCAN มาใช้ในการเรียนการสอนแบบผสมผสาน นั่นคือในกรณีที่รายวิชาใดเปิดการเรียนการสอนในห้อง และออนไลน์ไปพร้อมๆ กัน นักศึกษาสามารถตรวจสอบได้จากระบบ MU-SCAN ว่า ห้องเรียนที่เปิดสอนมีนักศึกษาเข้ามาเต็มความจุของห้องแล้วหรือยัง เพื่อช่วยในการตัดสินใจสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลว่าจะเข้าชั้นเรียนปกติ หรือเรียนออนไลน์ โดยจำนวนผู้เข้าเรียนในแต่ละห้อง จะแสดงผลแบบเรียลไทม์ ตามจำนวนผู้ที่ check in
สำหรับในส่วนของการเรียนการสอนที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวยืนยันว่า ทางคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้คุณภาพของการสอนออนไลน์เทียบเท่ากับการสอนในชั้นเรียน โดยทั้งคณาจารย์และนักศึกษามีความจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่นี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมยืนหยัดและช่วยเหลือ ทั้งนักศึกษา และคณาจารย์ เพื่อผ่านพ้นวิกฤติ Covid-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210