เตือน นายจ้าง สถานประกอบการ รับต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ
กรมการจัดหางาน ย้ำจับจริง หลังเปิดโอกาสให้นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมติ ครม. ยื่นบัญชีรายชื่อผ่านระบบออนไลน์ เพื่อทำงานและอยู่ในไทยเป็นกรณีพิเศษ หลังสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบอย่างเข้มงวด
23 ก.พ.64 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น มีความมุ่งมั่นแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ เพื่อบริหารจัดการให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ได้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงาน และสามารถตรวจสอบควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวได้อย่างเป็นระบบ ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน
โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ได้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อและแจ้งข้อมูลบุคคลผ่านระบบออนไลน์ กับกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกแล้ว ปรากฏว่ามีคนต่างด้าว 3 สัญชาติมาขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 654,864 คน แบ่งเป็น กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง ซึ่งมีนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 133,910 ราย เป็นคนต่างด้าว 596,502 คน แยกเป็น สัญชาติกัมพูชา 180,476 คน ลาว 63,482 คน และเมียนมา 352,544 คน และกรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง มีคนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล 58,362 คน แยกเป็น สัญชาติกัมพูชา 23,203 คน ลาว 3,626 คน และเมียนมา 31,533 คน
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้สั่งการสำนักงานจัดหางานพื้นที่กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ให้มีการประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ในทุกช่องทางมาโดยตลอด เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ยังไม่มีนายจ้างทราบแนวทางการดำเนินการ ตลอดจนบทลงโทษ หากไม่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้หากตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมาย นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี และคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ
“ สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวที่ยื่นบัญชีรายชื่อตามขั้นตอนที่ 1 แล้ว ต้องดำเนินการ ดังนี้
1. กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง คนต่างด้าวต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 16 เม.ย.64 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ภายในวันที่ 18 ต.ค.64 จากนั้น สธ.ส่งผลการตรวจโรค และ ตม.ส่งข้อมูลการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ให้กกจ.ออกใบอนุญาตทำงานต่อไป นายจ้างชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน ภายในวันที่ 16 มิ.ย.64 และนายจ้างพาคนต่างด้าวไปขอจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนด ภายใน 30 ธ.ค.64
2. กรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง คนต่างด้าวต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 16 เม.ย.64 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ภายในวันที่ 18 ต.ค.64 คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค ไปขอจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายในวันที่ 16 มิ.ย.64 นายจ้างที่ประสงค์จ้างคนต่างด้าวที่จัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) เข้าทำงาน ยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์ และหลักฐานการชำระเงิน ภายใน 13 ก.ย.64 และนายจ้างพาคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายใน 28 ก.พ. 65 กรณีคนต่างด้าวทำงานในกิจการประมงทะเลต้องไปยื่นขอทำหนังสือคนประจำเรือ ณ ที่กรมประมงกำหนด เป็นขั้นตอนสุดท้าย ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ