"จับกัง 1" เตือนนายจ้างรถโดยสารสาธารณะ ห้ามให้ลูกจ้างขับรถเกินเวลา ช่วงสงกรานต์เกิดอุบัติเหตุเอาผิดนายจ้างโทษสูงสุด
กระทรวงแรงงานเตือนนายจ้างในกิจการขนส่งทางบกร่วมดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน ห้ามให้ลูกจ้างขับขี่ยานพาหนะเกินวันละ 8 ชั่วโมง OT ไม่เกิน 2 ชั่วโมง และต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด ด้านลูกจ้างต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม มีสติ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวันพบว่าเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินมิอาจประเมินค่าได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ขับรถด้วยความเร็ว ประมาท พักผ่อนน้อย และเสพยา
ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 10 – 15 เมษายน 2564 รวม 6 วัน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้พนักงานขับรถต้องทำงานหนักมากขึ้น จึงฝากเตือนไปยังนายจ้าง สถานประกอบกิจการประเภทขนส่งทางบกกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน และหากพบไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินคดีในอัตราโทษสูงสุด
ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้าง โดยทำงานได้ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หากทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หลังจากที่ลูกจ้างขับรถมาแล้ว 4 ชั่วโมง ต้องมีเวลาพักผ่อนติดต่อกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และในวันถัดไปห้ามให้ลูกจ้างเริ่มทำงานก่อนครบเวลา 10 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการทำงานของวันที่ล่วงมาแล้ว ทั้งนี้ งานในกิจการประเภทขนส่งทางบก โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ มีสติตลอดเวลา ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะขับรถ