"สปสช." เปิดหลักเกณฑ์เบิกจ่าย "ตรวจคัดกรอง-รักษาโควิด-19" ให้โรงพยาบาล
สปสช.เผยหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายบริการตรวจคัดกรองและค่ารักษาโควิด-19 เพิ่มเติมบริการคัดกรองตาม "ดุลยพินิจของแพทย์"พร้อมปรับแนวทางคัดกรองครอบคลุมการตรวจคัดกรอง 4 รายการหนุนเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระยะแรก ควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็ว ผู้ป่วยทุกสิทธิ รักษาได้
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของประเทศไทยที่ยังมีการแพร่ระบาดและพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขณะนี้ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายพื้นที่ การคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเป็นมาตรการสำคัญของการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ที่ผ่านมากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ได้จัดสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรอง และบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 รองรับสำหรับประชาชนไทยทุกสิทธิการรักษา ขณะที่การรักษาพยาบาลเบิกจ่ายตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สปสช."วอนชุมชนอย่ากังวล หากมีผู้ติดเชื้อกักตัวที่บ้านระหว่างหาเตียง
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการค้นหาผู้ติดเชื้อในระยะแรก เพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันการติดเชื้อ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สปสช.ได้ออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “เรื่อง กำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการที่มีสิทธิได้รับ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564” โดยเพิ่มเติมบริการคัดกรองโควิด-19 ตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษา ให้ถือเป็นเหตุสมควรที่ต้องรับการคัดกรอง จากเดิมที่กำหนดการให้บริการคัดกรองตามหลักเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI) ของกรมควบคุมโรค และก่อนทำหัตถการตามที่กรมการแพทย์กำหนดเท่านั้น โดยอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการอ้างอิงตามระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าด้วยอัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์และให้บริการ ฉบับที่ 3 นอกจากนี้ สปสช. ได้ประสานร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้เป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง เพื่อร่วมให้บริการคัดกรองโควิด-19 นี้ด้วย
นอกจากนี้ สปสช. ได้มีการปรับปรุง “แนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 ปีงบประมาณ 2564” ด้วยเช่นกัน โดยขยายครอบคลุมบริการตรวจคัดกรอง 4 รายการ ได้แก่
1.การตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริหารเหมาจ่าย 600 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
2.การตรวจด้วย RT-PCR โดยการทำแบบรวมตัวอย่าง ทั้งตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled savila samples) และตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled swab samples) แยกเป็น
- การตรวจตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 320 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 100 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
- การตรวจตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูก และป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled nasopharyngeal and throat swab samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 400 บาท ค่าบริหารเหมาจ่าย 75 บาท และค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
- การตรวจด้วยวิธี Realtime RT-PCR กรณีการทำ Pooled Sample มีผลตรวจเป็นบวก อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการและเก็บตัวอย่างรวมเหมาจ่าย 200 บาท
3.การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ค่าบริการเหมาจ่าย 350 บาท
และ 4.การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) สำหรับหน่วยบริการที่ทำการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 นี้ ต้องผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการและได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,200 บาท โดยในกรณีฉุกเฉินตรวจร่วมกับ RT-PCR กำหนดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ถ้ากลุ่มเสี่ยงเข้ารับการคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน
ทั้งนี้ ยืนยันว่า สปสช.จะจ่ายชดเชยให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ (Lab) ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรอง State Quarantine
สำหรับกรณีผู้ป่วยใน (IP) จะมีการจ่ายชดเชย ค่า Lab ค่ายารักษา และที่สำคัญก็คือค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจ่ายเชื้อ ก็จะมีการจ่ายชดเชยตามจริงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้เข้าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ ขณะที่ค่าห้องนั้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ทาง สปสช. ก็จะจ่ายชดเชยให้ 2,500 บาทต่อวัน ส่วนค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel หากโรงพยาบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวยังสถานที่นั้นๆ ก็จะมีการจ่ายชดเชยให้ไม่เกิน1,500 บาท ต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ด้วย
“เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเป็นภาระต่อประชาชนในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ก็อยากจะให้ความมั่นใจว่า ถ้าท่านทำตามคำแนะนำของแพทย์ หรือหน่วยบริการนั้นๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ในกรณีที่มีปัญหาผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง รวมไปถึงผู้ที่เข้าเกณฑ์ทุกอย่างแล้วยังถูกเรียกเก็บค่าบริการ ให้สอบถาม-แจ้งเพิ่มเติมได้ที่ 1330” นพ.จเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และยังไม่ได้เข้ารับการรักษา โทรสายด่วนเพื่อประสานหาเตียงได้ที่ สายด่วน 1668 ทุกวัน เวลา 08.00-22.00 น. และสายด่วน 1330 ทุกวัน 24 ชั่วโมง หรือลงทะเบียนผ่านไลน์สำหรับในเขต กทม.และปริมณฑล ที่ @sabaideebot