ต้อนรับ "วันรักต้นไม้" ซีพีเอฟ ร่วมเติมพื้นที่สีเขียว 2 หมื่นไร่
21 ตุลาคม "วันรักต้นไม้" ประจำปีของชาติ "ซีพีเอฟ" ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายชาติไทย เติมพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ เดินหน้าปลูกป่า-ปลูกต้นไม้ 2 หมื่นไร่
ในโอกาส “21 ตุลาคม” ของทุกปี เป็น “วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ” บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ "ซีพีเอฟ" เดินหน้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย สนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
“ซีพีเอฟ” ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์ ฟื้นฟู เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าบกและป่าชายเลน ลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เดินหน้าปลูกป่าและปลูกต้นไม้ 20,000 ไร่ ภายในปี 2030 สนับสนุนเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งสู่องค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral ) รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) พร้อมทั้งช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชนและป่าอย่างยั่งยืน
ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งตามแผนกลยุทธ์ใหม่ CPF 2030 Sustainability in Action มีเป้าหมายปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าเป็น 20,000 ไร่ ภายใต้แนวคิด “จากภูผาสู่ป่าชายเลน”
สานต่อการดำเนินโครงการปลูกป่าบกและป่าชายเลน คือ โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม พื้นที่ป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี รวม 6,971 ไร่
โครงการ “ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ” อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 2,388 ไร่ โครงการ “ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ” ปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั่วประเทศรวม 5,000 ไร่
นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมมือกับชุมชน และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 - 2561
สามารถช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนได้รวม 2,388 ไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกใหม่จำนวน 325 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา และในปี 2562 -2566 มีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง และตราด โดยในปีนี้ ได้ดำเนินการปลูกป่าใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาครไปแล้ว 100 ไร่
คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะปลูกป่าชายเลนได้ 266 ไร่ จากการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกิดผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ในด้านสังคมจากการที่ป่าชายเลนสามารถป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่ง เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในด้านสังคม
ซีพีเอฟต่อยอดจากกิจกรรมปลูกป่าสู่การส่งเสริมอาชีพของชุมชน มีอาชีพเสริมและมีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ชุมชนจำหน่าย เช่น ถ่านไบโอชาร์ที่มีคุณสมบัติในการดูดกลิ่นได้ดี เกลือสปา สบู่หอม เป็นต้น ด้านเศรษฐกิจ ชุมชนมีอาชีพเสริมและมีรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่มากขึ้น
“ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ในพื้นที่ นอกจากได้ผืนป่าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และดูแลป่าอย่างยั่งยืน” ประธานคณะทำงานโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ของซีพีเอฟ กล่าว
นายภาณุวัตร เนียมเปรม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า ความร่วมมือ 3 ประสาน โดยซีพีเอฟ ชุมชน และกรมป่าไม้ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม ในโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” จังหวัดลพบุรี รวม 6,971 ไร่ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยตามเป้าหมายของประเทศเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าให้ได้ 40 % ของพื้นที่ทั้งหมด ช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ
ซึ่งจากการดำเนินโครงการระยะที่หนึ่ง (ปี 2559-2563) ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพิ่มขึ้น ที่สำคัญ คือ ซีพีเอฟ ชุมชน และกรมป่าไม้ มีการติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ทำแนวกันไฟ กำจัดวัชพืชเพื่อให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างแข็งแรง ซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ ฯลฯ
รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ทำโครงการปลูกผักวิถีธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการฯ จาก 8 หมู่บ้าน และโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน มีชุมชนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการจาก 11 หมู่บ้าน
“ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้หยุดปลูกต้นไม้ในพื้นที่ แต่ปรับรูปแบบของกิจกรรมจากการนำจิตอาสาซีพีเอฟลงพื้นที่ ทำกิจกรรมปลูกป่า ติดตามดูแลต้นไม้ เป็นการจ้างงานชุมชนช่วยดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มเติม กำจัดวัชพืช เป็นการกระจายรายได้ช่วยเหลือชุมชนอีกทางหนึ่งในช่วงโควิด ซึ่งหลายครอบครัว สมาชิกในครอบครัวประสบปัญหาว่างงาน” ประธานคณะทำงานโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง กล่าว
นอกจากการดำเนินโครงการปลูกป่าบกและป่าชายเลนแล้ว ซีพีเอฟ ส่งเสริมฟาร์มและโรงงานของบริษัททั่วประเทศ ปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 1,720 ไร่ มีเป้าหมายดำเนินการ 5,000 ไร่ รวมทั้งเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว รวมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการปลูกต้นไม้และปลูกป่ากว่า 5 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืนลงสู่ระดับบุคคล เปิดตัวกิจกรรม “กล้าจากป่า พนาในเมือง” ในโครงการ Sustainability in Action ยั่งยืนได้ ด้วยมือเรา สนับสนุนให้พนักงานปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และไม้กระถาง ช่วยดักฝุ่น PM2.5 มีการถ่ายทอดวิธีการปลูกต้นไม้อย่างถูกวิธี และการบันทึกการเติบโตของต้นไม้ เพื่อนำมาวัดการกักเก็บคาร์บอน
จากการที่ต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จำนวน 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ / ต้น / ปี
โดยในปี 2564 มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ 20,000 ต้น ซึ่งจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 190,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ / ปี และภายใน 5 ปี (ปี 2564-2568) มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 2,850,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการดังกล่าว ยังช่วยเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนที่เพาะกล้าและดูแลกล้าไม้ตลอดระยะเวลาโครงการ 5 ปี มูลค่าการจ้างงานชุมชนรวมประมาณ 2 ล้านบาท