"อธิบดีสรวิศ" ย้ำทุกฟาร์มลงสุกรรอบใหม่ ต้องผ่านประเมินและปลอดโรค ASF
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ย้ำทุกฟาร์มลงสุกรรอบใหม่ ต้องผ่านประเมินความเสี่ยงและตรวจสอบปลอดโรค ASF
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ในสุกร สำหรับในกรณีของเกษตรกรที่มีความประสงค์จะนำสุกรเข้าเลี้ยงขอให้ดำเนินการตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยเฉพาะการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ของฟาร์มสุกร ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรมปศุสัตว์นั้นมีนโยบายพร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาดการเลี้ยง ทั้งรายย่อยที่มี จำนวนสุกรน้อยกว่า 50 ตัว รายเล็ก ที่มีจำนวนสุกร 50-500 ตัว รายกลาง ที่มีจำนวนสุกร 500-5,000 ตัว และรายใหญ่ ที่มีจำนวนสุกรตั้งแต่ 5,000 ตัวขึ้นไป สามารถนำสุกรเข้าเลี้ยงในฟาร์มได้ แต่ประเด็นที่สำคัญและต้องได้รับความร่วมมืออย่างเคร่งครัด คือ ฟาร์มทุกขนาดการเลี้ยงต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงระดับฟาร์ม ปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบการเลี้ยงที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ เพราะนอกจากจะสามารถป้องกันโรค ASF ในสุกร ยังป้องกันโรคระบาดอื่นๆ ในสุกรได้อีกด้วย
“เนื่องจากปัจจุบันโรค ASF ในสุกรยังไม่มีวัคซีนและการใช้ยารักษาที่จำเพาะ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญในการลดความเสียหายและป้องกันโรคเข้าฟาร์มได้คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อป้องกันความเสี่ยงและความเสียหายจากโรคระบาดในสุกร ด้วยการใช้ระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM: Good Farming Management) เพื่อเป็นการลดความเสียหายสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ เช่น การอาบน้ำเปลี่ยนชุดเข้าฟาร์มของพนักงาน มีการพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่ง การล้างพ่นยาฆ่าเชื้อโรงเรือน การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ เป็นต้น และที่สำคัญยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเพื่อยกระดับเป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP)”
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อไปว่า พร้อมกันนี้ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยง โดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็ก ได้ปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก ในการกลับมาสู่อุตสาหกรรมการผลิตสุกรรอบใหม่ภายใต้การผลิตในระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เหมาะสมเช่น การให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศให้คำแนะนำถึงการใช้ระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM: Good Farming Management) การประสานหาแหล่งทุนสนับสนุนการเลี้ยง เป็นต้น พร้อมกันนี้ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน หากพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 หรือ Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง