ไทย เตรียมเป็นเจ้าภาพ การ "ประชุมเอเปค" อีกครั้งในรอบ 20 ปี
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านการค้าและ การลงทุนภายใต้กรอบ "เอเปค" จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022: MRT) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2565
วันนี้ 5 พ.ค.65 ณ ห้องเจ้าพระยา-มาร์ราเกซ ชั้น 6 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นาง อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แถลงข่าว
การเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้า "เอเปค" (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022:MRT)
ปี 2565 เป็นปีที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นปีที่ไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม "เอเปค" อีกครั้ง ในรอบ 20 ปี
โดยมุ่งเน้นผลักดันผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายใต้หัวข้อหลัก คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน
สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ประกอบด้วย (1) การเปิดกว้างทุกโอกาส (2) การเชื่อมโยงทุกมิติ และ (3) ความสมดุลทุกแง่มุม
สำหรับประเด็น “การเปิดกว้างในทุกโอกาส” ไทยจะสานต่อการดำเนินงานในการเปิดเสรีทางการค้าและ
การลงทุน โดยเฉพาะการไหลเวียนสินค้าจำเป็น เช่น วัคซีนโควิด-19 และสินค้าทางการแพทย์ เป็นต้น โดยไทยตระหนักถึงการเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล อาทิ กระบวนการระบบศุลกากรที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการดำเนินธุรกิจที่ช่วยลดต้นทุนจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ ไทยจะส่งเสริมการหารือการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมให้มีความทันสมัย
ส่วนประเด็น “การเชื่อมโยงในทุกมิติ” ไทยจะเน้นในเรื่องการกลับมาเชื่อมโยงกันผ่านการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
และประเด็น “ความสมดุลในทุกแง่มุม” ไทยมองเห็นโอกาสที่ดีในการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทยในเวทีเอเปค โดยเป็นแนวคิดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน อาทิ การปล่อยก๊าซคาร์บอนระดับต่ำ รวมถึงการสานพลังร่วมสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและเยาวชน ในเรื่องการส่งเสริมแนวคิด BCG Economy Model การสานต่อการสนับสนุน MSMEs กลุ่ม Start-ups และสตรี ในการใช้แนวคิดใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้เทคโนโลยีและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไทยยังเน้นเรื่องการคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติทั้งในเรื่องการรักษาป่าไม้ การจัดการขยะทางทะเล และการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายด้วย นอกจากนี้ ไทยยังมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารด้วย
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านการค้าและ
การลงทุนภายใต้กรอบเอเปค จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022: MRT) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรม Centara Grand and Bangkok Convention Centre at Central World กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่รัฐมนตรีการค้าของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค จะได้เดินทางเข้ามาร่วมประชุมในรูปแบบกายภาพ โดยมีกำหนดการประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
· วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 การสัมมนาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ในช่วงโควิด-19 และอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตร และประชาชน ได้รับทราบแนวคิดและเป้าหมายระยะยาวในเอเปค ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ซึ่งปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ตั้งแต่ปี 2551 และล่าสุดปรากฏในวิสัยทัศน์ปุตราจายา ปี ค.ศ. 2040 (2583) โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบการค้าการลงทุน การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยจะทำให้ทราบมุมมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่อง FTAAP ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและคำนึงถึงบริบทการค้าใหม่ๆ ซึ่งยิ่งต้องผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง FTAAP เร็วขึ้น เพราะจะช่วยให้เขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นและมีแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน รวมทั้งวิทยากรจากเขตเศรษฐกิจเอเปค เช่น เปรู เป็นต้น ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาได้ที่ http://apecmrt2022.dtn.go.th/FTAAP หรือสามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
· วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 งานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ ในการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยจะจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) กับ BCG Economy เพื่อมุ่งหวังให้ MSMEs มีการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีนวัตกรรม สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ ผู้แทนจากญี่ปุ่น ชิลี และสิงคโปร์มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมีภาคเอกชนไทย เช่น นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต นางสาวธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอร์ลูป จำกัด นายอนัฆ นวราช ผู้อำนวยการปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพนำแนวคิด BCG มาปรับใช้ในการประกอบธุรกิจ
· วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 กิจกรรมประกวด APEC Mobile App Challenge โดยไทยในฐานะเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิ Asia Foundation บริษัท Google และสำนักงานเลขาธิการเอเปคเป็นผู้จัดกิจกรรม โดยรับสมัครผู้สนใจจากเขตเศรษฐกิจเอเปคที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เข้าแข่งขันทีมละ 2 คน เพื่อประกวดนำเสนอการออกแบบ Mobile Application ภายในเวลา 24 ชั่วโมง โดยโจทย์ของปีนี้คือการสร้าง Application ที่เชื่อมเกษตรกรและผู้ประกอบการกับตลาด รวมถึงระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการด้วยกันเอง โดยเน้นส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ดำเนินรูปแบบการทำธุรกิจไปสู่แนวคิดสีเขียว การมีส่วนร่วมและการเติบโตอย่างยั่งยืนในการเข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางใหม่ๆ เช่น ทางออนไลน์มากขึ้น โดยผู้ชนะที่ 1-3 จะได้เงินรางวัล 4,000 เหรียญสหรัฐ (132,000 บาท) 3,000 เหรียญสหรัฐ (99,000 บาท) และ 2,000 เหรียญสหรัฐ (66,000 บาท) ตามลำดับ จากมูลนิธิ Asia Foundation และ Google
· วันที่ 21–22 พฤษภาคม 2565 การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกเอเปคร่วมกันผลักดันและกำหนดทิศทางความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการประชุมประกอบด้วย 3 วาระสำคัญ คือ ในช่วงเช้าของวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เป็นการหารือระหว่างผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) และรัฐมนตรีการค้าเอเปค ในเรื่องแผนงานการขับเคลื่อนเอเปคสู่การเป็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่จะเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 ในช่วงบ่ายจะเป็นการรับทราบความคาดหวังของผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ในเรื่องการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคในเรื่องระบบการค้าพหุภาคี และความคาดหวังที่มีต่อการประชุม MC12 ส่วนวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 รัฐมนตรีการค้าเอเปคจะหารือเรื่องการรับมือและดำเนินชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 การมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งทั้ง 3 วาระการประชุมจะสะท้อนหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทย “Open. Connect. Balance.”
ทั้งนี้ เอเปคเป็นเวทีที่เน้นการเปิดเสรีทางการค้าและการลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ถือว่าเป็นงานสำคัญที่ไทยจะแสดงบทบาทนำในเวทีโลก โดยเฉพาะในยุคที่ภูมิภาคเอเปคกำลังจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การที่สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค มาร่วมกันระดมความเห็นเพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อทำให้ภูมิภาคเอเปค โดยเฉพาะภาคธุรกิจและประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายการค้าที่มุ่งเน้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค การเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกยิ่งขึ้น การเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นวัตกรรมทางดิจิทัล และการพัฒนาศักยภาพและโอกาสของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจไทยให้เติบโต และผลลัพธ์ของการประชุมเอเปคจะช่วยวางแนวทางฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังยุคโควิด-19 อย่างยั่งยืน และตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสในการแสดงความพร้อมของไทยในการเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วโลกหลังสถานการณ์โควิด-19
เอเปค หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม สมาชิกเอเปคเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีมูลค่า 12.2 ล้านล้านบาท (385,394.17 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 71.52% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 6.1 ล้านล้านบาท (195,319.81 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็น 70.88% ของการส่งออกรวมทั้งหมดของไทย และไทยนำเข้าจากเอเปคมูลค่า 4 ล้านล้านบาท (190,074.36 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็น 71.01% ของการนำเข้ารวมทั้งหมดของไทย
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 (ม.ค. – มี .ค.) การค้ารวมระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 3.35 ล้านล้านบาท (102 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 23.91% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเอเปค มูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท (50.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 22.95% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และไทยนำเข้าจากเอเปคมูลค่า 1.69 ล้านล้านบาท (51.10 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 24.87% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า