“ชัชชาติ” เดินหน้า สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
ย้ำ “การอ่านลงทุนน้อย ได้ผลเยอะ” จับมือ สสส.-สธ-มหาดไทย 340 ภาคีเครือข่าย ดัน “สวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย” หยุดวิกฤติ Learning Loss พบเด็กไทย 1.1 ล้านครัวเรือน เสี่ยงพัฒนาการล่าช้า
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านกว่า 340 องค์กร อาทิ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก บริษัท กล้าก้าว อินสไปเรชั่น จำกัด ศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น เครือข่ายอ่านยกกำลังสุข ศูนย์ประสานงานส่งเสริมการอ่านชายแดนใต้ เครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ เครือข่ายเด็กเท่ากัน เครือข่ายรัฐสวัสดิการ จัดเวทีพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย “สานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss จากปฏิบัติการทางสังคมสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย” มุ่งเป้าสนับสนุนให้เกิดสวัสดิการหนังสือในเด็กปฐมวัย
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. มุ่งทำงานภายใต้แนวคิด “ลงทุนน้อย แต่ได้ผลเยอะ” การสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในเด็กปฐมวัย ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าได้ผลลัพธ์มหาศาล ในการนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ผลักดันขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย ทาง กทม. พร้อมรับนโยบายมาส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านนโยบาย 3 ข้อ 1. ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมีหนังสือในบ้าน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญให้เด็กอายุ 0-8 ปี ที่มีพัฒนาการเร็ว มีนิสัยรักการอ่าน 2. ส่งเสริมให้ผู้ปกครอง พ่อ-แม่ มีเวลาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยฝึกให้พ่อ-แม่มีบทบาทในการฝึกลูกเรื่องการอ่านมากขึ้น 3. จัดทรัพยากรหนังสือเพื่อเด็ก อาทิ โครงการหนังสือ 100 เล่ม แนะนำให้เด็กอ่าน จัดตั้งศูนย์กลางห้องสมุด 36 แห่ง พัฒนาบ้านหนังสือในชุมชน 117 แห่ง ช่วยคนรายได้น้อย เข้าถึงหนังสือ 3-5 เล่มต่อ 1 บ้าน ใช้เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนหมุนเวียนหนังสือ พร้อมมีจิตอาสาหมุนเวียนมาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ถือเป็นการที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลเยอะ สร้างเด็กปฐมวัยมีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาการที่ดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าในชีวิตและสังคมไทย
“กทม. ขอรับนโยบาย สสส. และภาคีเครือข่ายในการผลักดันให้เด็กทุกคน เข้าถึงสวัสดิการหนังสือเด็กปฐมวัย โดย กทม. จะขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพราะการอ่านหนังสือ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า คือ ลงทุนน้อยแต่ได้เยอะ” รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าว
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การอ่านมีผลต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย เด็กสามารถเรียนรู้จากการฟังและดูจากพ่อแม่เล่าหรืออ่าน นอกจากทำให้เกิดความผูกพันระหว่างคนในครอบครัว หนังสือยังทำให้เด็กเกิดจินตนาการ ทักษะพื้นฐานของการรู้จักคิด เรียนรู้ เมื่อเข้าสู่วัยเรียนจะมีผลเชิงบวก ทั้งด้านภาษา คำนวณ ทำให้มีแนวโน้มทางการเรียนที่ดี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดโอกาสการเข้าถึงสวัสดิการหนังสือที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย จัดตั้งมุมหนังสือสำหรับเด็ก และจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับวัยในสถานที่ต่างๆ รวมถึงห้องสมุดเคลื่อนที่ ให้บริการยืมและแลกเปลี่ยนหนังสือ เพื่อให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน
“ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ สร้างนิสัยรักการอ่านให้กับลูก 7 ข้อ 1. อ่านหนังสือหรือเล่านิทาน โดยแนะนำให้ลูกรู้จักตัวละครในหนังสือ พร้อมตอบคำถาม 2. พาลูกไปเลือกซื้อหนังสือที่สนใจ 3. ทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน เช่น จัดชมรมนักอ่าน จัดห้องสมุดโรงเรียน เป็นวิทยากรอ่านหนังสือให้เด็กฟัง 4. ชวนลูกทำอาหารจากหนังสือหรือตำราอาหารเด็ก 5. ให้ลูกฝึกค้นหาคำตอบจากหนังสือสารานุกรมเด็ก 6. อ่านหนังสือทุกวัน เลือกที่เหมาะสมตามวัย มีภาพประกอบมีสีสันสวยงาม มีเนื้อหาเข้าใจง่าย และภาษาไพเราะ 7. ให้หนังสือเป็นของขวัญสำหรับลูกในวันสำคัญต่างๆ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีนโยบาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างน้อย 1 แห่ง ต้องมีห้องสมุดศูนย์กลาง จึงได้ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ริเริ่มโครงการ “ท้องถิ่นรักษ์การอ่าน” ปรับศาลากลางบ้าน วัด ส่วนของพื้นที่ราชการท้องถิ่น หรือบ้านของจิตอาสา เป็นพื้นที่อ่านหนังสือ แบ่งปันหนังสือของคนในชุมชน จำนวน 9,102 แห่ง พร้อมผลักดันนโยบายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรในท้องถิ่น ให้มีมุมอ่านหนังสือ มีกิจกรรมเล่านิทาน สนับสนุนให้ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมการเรียนรู้วงกว้างในระยะเวลาที่รวดเร็ว
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถไปโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ทักษะทางสังคมได้เต็มที่ ประกอบกับข้อมูลการเข้าถึงหนังสือ โดยสำนักสถิติแห่งชาติ พบเด็กเล็กไม่มีหนังสือในบ้านกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ สะท้อนแนวโน้มที่อาจเพิ่มขึ้นของภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็ก สสส. เร่งสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย พัฒนาแนวทางการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านตั้งแต่เด็กปฐมวัย อายุ 0-6 ปี ริเริ่มโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ชวนกันอ่านสร้างสุข โครงการคัดสรร 108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โครงการนครแห่งการอ่าน โครงการอ่านยาใจ : สร้างภูมิคุ้มใจเด็กปฐมวัย มุ่งขยายผลขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญา สร้างครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ร่วมแก้วิกฤติพัฒนาการภาษาล่าช้า ลดภาวะถดถอยการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนปฏิบัติการทางสังคมด้วยการเสริมสร้าง เชื่อมโยง และเสริมพลังเครือข่าย เพื่อให้เกิดกลไกการทำงาน ทั้งกลไกด้านสุขภาพ ภาควิชาการท้องถิ่น และภาคนโยบาย เช่น สวัสดิการสำหรับแม่ตั้งครรภ์และเด็กตั้งแต่แรกเกิด ที่สร้างโอกาสการเข้าถึงหนังสือคุณภาพและสวัสดิการหนังสือเด็กปฐมวัย เพื่อวางรากฐานการอ่านที่เป็นทักษะสำคัญของการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต” นางญาณี กล่าว
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนงานส่งเสริมการอ่าน เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมใหม่ของสังคมไทย ที่มีกระบวนการสร้างสุขภาวะและศักยภาพของเด็กปฐมวัย เป็นยุทธศาสตร์สำคัญและเร่งด่วนในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องทำงานคู่ขนานระหว่างการขับเคลื่อนปฏิบัติการทางสังคมและภาคนโยบาย เพื่อขยายผลครอบคลุมทั้งประเทศ ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีสาธารณะทั่วทุกภูมิภาค 5 ครั้ง เพื่อให้เกิดข้อเสนอสำคัญนำยื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีต่อไปภายในปี 2565 ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ่านยกกำลังสุข”