ไม่นิ่งนอนใจ "วราวุธ" ย้ำเร่งแก้ไขปัญหา กำแพงกันคลื่นต่อเนื่อง
ไม่นิ่งนอนใจ "วราวุธ" เดินหน้าเร่งแก้ไขปัญหากำแพงกันคลื่นต่อเนื่อง พร้อมสั่งระงับทุกโครงการที่อาจก่อผลกระทบ ยืนยันกระบวนการพิจารณาจัดทำมาตรการลดผลกระทบ มีผลบังคับใช้ภายในปี2565 นี้
กรณีมีกระแสกำแพงป้องกันคลื่นสร้างผลกระทบพื้นที่ชายหาดหลายแห่งเกิดความเสียหายรุนแรง อ้างกระบวนการพิจารณาทบทวนแนวทางป้องกันและลดผลกระทบจากกำแพงกันคลื่นไม่คืบหน้า นั้น ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ จาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรณีมีกระแสกังวลการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นสร้างผลกระทบต่อพื้นที่ชายหาดหลายแห่งหลังมีการประกาศยกเลิกการจัดทำ EIA ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและไม่เคยนิ่งนอนใจ พยายามขับเคลื่อนแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ซึ่งได้กำหนดแนวทางไว้ในแผนปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่ปี 2561 ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งรัดจัดทำ Environmental Checklist โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งกระบวนการพิจารณาต้องผ่านความเห็นชอบจากหลายฝ่ายอย่างรอบคอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ต่อไป
“ทั้งนี้ ผมต้องยอมรับถึงความล่าช้าที่เกิดจากกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ชัดเจน อีกทั้ง สามารถป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจถึงความกังวลของหลายฝ่ายโดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่น ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในฐานะหน่วยงานที่คอยกำกับและกำหนดนโยบายและมาตรการ ได้เร่งเสริมมาตรการเพื่อควบคุมการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยทุกหน่วยงานที่จะดำเนินโครงการเพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งจะต้องเสนอโครงการไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อรวบรวมเสนอต่อ“คณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการฯ”
ซึ่งประกอบไปด้วยทุกส่วนราชการการที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองโครงการด้านการกัดเซาะชายฝั่ง และส่งผลการพิจารณาให้สำนักงบประมาณประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี ต่อไป ซึ่งโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานฯ ดังกล่าวแล้ว ก็เชื่อมั่นได้ว่าไม่มีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหรือสามารถควบคุมและจัดการได้
“สุดท้ายผมอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนและหน่วยงานองค์กรที่กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าตนไม่เคยนิ่งนอนใจหรือชะลอการเดินหน้าแก้ไขปัญหาเรื่องนี้แต่อย่างใด ในทางกลับกัน ตนได้พยายามติดตามและเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดเพื่อให้แก้ไขปัญหาโครงการกำแพงป้องกันคลื่นให้ได้อย่างถาวรและมีประสิทธิภาพ เพราะอย่างไรความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือ แรงขับเคลื่อนสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งเรื่องนี้ตนได้มอบให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กำกับหน่วยงานอย่างใกล้ชิดและประสานหน่วยงานที่ยังไม่สรุปความเห็นให้เร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้ให้ได้ภายในปีนี้” นายวราวุธ กล่าวย้ำ
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่น ภายใต้ “กฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล” และใช้ Environmental Checklist เป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานก่อเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งตนได้ติดตามผลการพิจารณามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้พยายามเจรจากับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางและหลักการของวิธีดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งนี้ สำหรับการพิจารณาโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ก่อนเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ในปีงบประมาณ 2565 เป็นปีแรกที่พิจารณา โดยมีหน่วยงานเสนอโครงการฯมาทั้งหมด 64 โครงการ ผ่านคณะทำงานกลั่นกรองจำนวน 17 โครงการ แต่ได้รับงบประมาณเพียง 7 โครงการเท่านั้น
“ส่วนในปี 2566 หน่วยงานเสนอโครงการทั้งหมด 68 โครงการ คณะกรรมการฯเห็นชอบ 17 โครงการ และปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณ ปี66 โดยที่ผ่านมาโครงการที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานฯ จะไม่ได้รับสนับสนุนงบประมาณแต่อย่างใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการพิจารณาตัดโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ข้างเคียงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต” นายโสภณ กล่าวยืนยัน