MEA ร่วมกับ EVAT ผนึกเครือข่ายฯรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
MEA ร่วมกับ EVAT ผนึกเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานหัวชาร์จ MEA EV ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
วันนี้ (27 กรกฎาคม 2565)นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือเพื่อการเชื่อมต่อการใช้งานร่วมกันของแต่ละเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) กับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) และเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ รวมจำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่
การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) บริษัท อรุณ พลัส จำกัด บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด บริษัท โชเซ่น เอ็นเนอร์จี้ จำกัด บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) เพื่อดำเนินการ และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า และแสวงหาแนวทางความร่วมมืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดมลพิษทางอากาศ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลักดันสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายให้มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) ร่วมขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ณ ห้องประชุม X04B ชั้น 10 อาคารเคเอ็กซ์
รองผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ตามแผนงานด้านพลังงานในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย และพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินนโยบายในด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาอย่างต่อเนื่อง MEA ครบรอบ 10 ปี EV และการลงนามครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า
โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำมาตรฐานและข้อกำหนดการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายฯ การบริหารจัดการด้านข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถานที่ตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าทุกแห่งได้สะดวกรวดเร็ว ไปจนถึงการสร้างมาตรฐานค่าธรรมเนียมกลางการใช้บริการให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ในการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาทดแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในต่อไปในอนาคต
โดยในปี 2565 MEA ดำเนินการภายใต้โครงการ “มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน.” ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จ และขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ให้มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานหัวชาร์จ MEA EV ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้บริการหัวชาร์จที่สะดวกผ่าน MEA EV Application ตลอดจนการติดตั้งและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ MEA พร้อมเชื่อมต่อ Platform ระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ วิเคราะห์ข้อมูลการชาร์จ และเชื่อมต่อกับ MEA EV Application รองรับการใช้งานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด MEA EV Application ได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ได้ที่ https://onelink.to/meaev สำหรับวางแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าและการให้บริการ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมให้ความร่วมมือเอกชนทุกภาคส่วนส่งเสริมดำเนินตามนโยบายภาครัฐต่อไป
สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจใช้บริการออกแบบและติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยของ MEA สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 รวมถึงแจ้งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter: @mea_news ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
#MOU
#EVAT #สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
#เครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ
#MEA10ปีEV #MEAEV #MEAsmartservice #EV #EVChargingStation #EVcharger
#รถยนต์ไฟฟ้า #รถอีวี #รถพลังงานไฟฟ้า
#MEA #การไฟฟ้านครหลวง #พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร