ประชาสัมพันธ์

ก.แรงงาน Up skill แรงงานเพื่อนบ้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ สานสัมพันธ์ 3 ประเทศ

ก.แรงงาน Up skill แรงงานเพื่อนบ้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ สานสัมพันธ์ 3 ประเทศ

25 ส.ค. 2565

"สุชาติ ชมกลิ่น" รมว.แรงงาน สั่งการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ Up Skill แรงงานประเทศเพื่อนบ้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ รักษาความมั่นคง สานสัมพันธ์และส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน ในส่วนของการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ (ลาว เมียนมา กัมพูชา) นั้น เป็นการดำเนินตามความร่วมมือกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งได้พัฒนาทักษะให้แก่แรงงานของประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 328 รุ่น รวมทั้งสิ้น 7,191 คน เพื่อให้มีทักษะและวิชาชีพตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในจังหวัดชายแดนของประเทศไทยและจังหวัดชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ลดปัญหาข้ามชาติ อาทิ อาชญากรรม ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ รวมถึงส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่และครูฝึกอาชีพได้รับความรู้ ทักษะวิชาชีพไปถ่ายทอดให้แก่แรงงานในชาติต่อไปด้วย และในปี 2565 มีเป้าหมาย จำนวน 400 คน ดำเนินการแล้ว จำนวน 292 คน

 

โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายแรงงานเพื่อนบ้านที่ทำงานในสถานประกอบกิจการไทยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงและมีแรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่ดำเนินการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานหนองคาย มุกดาหาร ตราด จันทบุรี กาญจนบุรี และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ มีการจัดฝึกอบรมกว่า 20 หลักสูตร เช่น การออกแบบติดตั้งและประยุกต์ใช้โซล่าเซลล์ การบำรุงรักษารถยนต์ การทำผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ช่างก่อสร้าง เป็นต้น

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายประทีป ทรงลำยอง ได้รายงานให้ทราบอีกด้วยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับงบประมาณจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกว่า 2 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน การให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทักษะฝีมือจึงเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีที่ดี สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลโดยการนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และการกำกับดูแลกระทรวงแรงงานของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาวและกัมพูชา เป็นต้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งประเทศไทยให้การส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนรับแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) ก.แรงงาน

นางสาวอาภากร ว่องเขตกร ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมได้มอบหมายให้นางสาวอาภากร ว่องเขตกร ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการสร้างทักษะแรงงาน/วิชาชีพ(ลาว/กัมพูชา/เมียนมา) ณ ร้านรัตติยาแจ่วฮ้อน สาขา 2 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานมุกดาหาร จัดฝึกอบรมในสาขาการบริการที่ประทับใจให้แก่แรงงานลาวในสถานประกอบกิจการในจังหวัดมุกดาหาร ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2565 จำนวน 20 คน เพื่อให้ความรู้ด้านการบริการ การพัฒนาทักษะที่จำเป็น ทันสมัย และสร้างสรรค์ในการให้บริการ การเลือกใช้เทคนิคการต้อนรับที่เหมาะสม เพื่อให้การบริการที่ประทับใจของผู้รับบริการ พร้อมกันนี้ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเยี่ยมและติดตามผลการฝึก ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจันทบุรี ซึ่งได้จัดฝึกอบรมการซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าเบื้องต้นให้แก่แรงงานกัมพูชาที่ทำงานในสถานประกอบกิจการในจังหวัดจันทบุรี จำนวน 20 คน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถตรวจระบบไฟฟ้า ตลอดจนซ่อมบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าเบื้องต้นได้ หลักสูตรดังกล่าวมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาอันตรายที่เกิดจากระบบไฟฟ้าลงได้ นอกจากนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังมีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรอื่นด้วย เช่น มาตรฐานงานก่อสร้าง ช่างคอนกรีต เป็นต้น

ก.แรงงาน Up skill แรงงานเพื่อนบ้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ สานสัมพันธ์ 3 ประเทศ

 

“โครงการดังกล่าวช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานเพื่อนบ้านให้ดีขึ้น มีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการไทยบริเวณชายแดนมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือ และที่สำคัญเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับทั้งสามประเทศ” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวในท้ายสุด

ก.แรงงาน Up skill แรงงานเพื่อนบ้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ สานสัมพันธ์ 3 ประเทศ

ก.แรงงาน Up skill แรงงานเพื่อนบ้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ สานสัมพันธ์ 3 ประเทศ