"วราวุธ" ย้ำ! ต้องทำให้ขยะ ไม่ใช่ขยะ แต่เป็นทรัพยากรที่นำมาใช้ใหม่ได้
"วราวุธ" ย้ำ! ต้องทำให้ขยะ ไม่ใช่ขยะ แต่เป็นทรัพยากรที่นำมาใช้ใหม่ได้ ใช้กลยุทธ์ “จัดการขยะที่ต้นทาง”Zero Waste โดยต้นแบบระดับประเทศ ชุมชนบ้านหัวถนน จ.ขอนแก่น
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรม “การขับเคลื่อนนโยบายสังคมปลอดขยะสร้างคุณค่าสู่เศรษฐกิจสีเขียว” โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ร่วมกันผลักดันไทยเป็นสังคม Net Zero ผ่านกลยุทธ์การจัดการขยะที่ต้นทาง Zero Waste ส่งเสริมความร่วมมือของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชน ผ่านต้นแบบชุมชนปลอดขยะระดับประเทศ “ชุมชนบ้านหัวถนน”ซึ่งได้รับรางวัลพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปี 2558
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาล ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งด้านที่ 6 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้วางแนวนโยบายการพัฒนาประเทศโดยใช้รูปแบบเศรษฐกิจใหม่ BCG Model การพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ด้าน ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้เห็นว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปลูกป่าเพิ่มขึ้น จะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และในอนาคตก็จะนำไปสู่แนวทางคาร์บอนเครดิตที่นำมาเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำให้ได้ตามเป้าหมาย Net Zero ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 และยกระดับความตกลงปารีส (NDCs) เป็นร้อยละ 40 เสริมสร้างขีดความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างครอบคลุมและยั่งยืน มุ่งสู่การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Build Forward Greener) ปรับเปลี่ยนชีวิตวีถีใหม่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเสริมโครงการจัดการขยะที่ต้นทาง Zero Waste อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เพื่อผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมปลอดขยะ Zero Waste Society ซึ่งมีกลยุทธ์ที่สำคัญ คือการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจในความหมาย ลักษณะ องค์ประกอบ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาให้ถึงเป้าหมายสังคมปลอดขยะ ได้แก่ การจัดการขยะที่ต้นทาง
สำหรับสถานการณ์ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศไทย ปี 2564 ที่มีการผลิตขยะออกมา 24.98 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 68,000 ตันต่อวัน อัตราการผลิตขยะต่อคน 1.14 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 32 ถูกส่งกำจัดอย่างถูกต้อง ร้อยละ 37 ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดไม่ถูกต้องกว่าร้อยละ 31 จึงทำให้เกิด “ขยะสะสม” กลายเป็นปัญหามลภาวะ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ประชาชน ตลอดจนเป็นการทิ้งทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความมุ่งมั่นในการทำให้ขยะไม่ใช่ขยะ แต่ขยะคือทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และการกำจัดขยะต้องไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม คือ “การจัดการขยะวิถีใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมสะอาด และก้าวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน”
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมชนบ้านหัวถนน ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น อยู่ติดกับเขตชุมชนเมืองของเทศบาลนครขอนแก่น ปัญหาขยะจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับชาวบ้านในชุมชน จึงได้มีการประสานกับทุกหน่วยงาน ทั้งเทศบาลตำบลพระลับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น ได้ให้ความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ มาทำงานร่วมกับชุมชน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการขยะให้ชาวบ้านทั้ง 323 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาขยะของชุมชน และความสำเร็จของชุมชนบ้านหัวถนน คือ สามารถจัดการขยะของชุมชนได้อย่างพร้อมเพรียงกัน ถึงร้อยละ ๘๕ ของครัวเรือนทั้งหมดในปี ๒๕๕๗ ทุกครัวเรือนในปี ๒๕๕๘ และทำได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี ๒๕๕๖ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะจากครัวเรือนเฉลี่ย 800 กิโลกรัม เหลือเพียง 323 กิโลกรัมต่อวัน ลดปริมาณขยะของชุมชนจาก 24 ตันต่อเดือน เหลือเพียง 10 ตันต่อเดือน โดยใช้วิธีการจัดตั้งแกนนำหรือบ้านต้นแบบการจัดการขยะขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ครัวเรือนอื่นๆ ในชุมชน
"ความสำเร็จนี้ ทำให้ชุมชนบ้านหัวถนนได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดขยะต้นแบบ จากโครงการชุมชนปลอดขยะ เฉลิมพระเกียรติ 88 พรรษา 88 ชุมชน ประจำปี 2558 ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ประเภทชุมชนขนาดใหญ่ (กลุ่ม L) รับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ถือว่าเป็นเกียรติอันสูงสุดจนหาที่สุดมิได้ของชุมชนบ้านหัวถนน ทำให้ชุมชนบ้านหัวถนนกลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบระดับประเทศ ที่ทุกชุมชนสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงกระบวนการและวิธีการดำเนินงานในด้านต่างๆ ไม่เพียงแค่การจัดการขยะเท่านั้น ยังมีเรื่องของการบริหารจัดการชุมชนในด้านอื่นๆ เช่น สุขอนามัย พลังงาน และการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ชุมชนบ้านหัวถนนยังได้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะเมื่อปี 2559 ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันอีกด้วย" นายวราวุธ กล่าวทิ้งท้าย