ประชาสัมพันธ์

ดีลควบรวมทรู-ดีแทค ส่อไฟลามทุ่ง สภาฯผู้บริโภค ทั่วประเทศ จ่อฟ้อง "กสทช."

ดีลควบรวมทรู-ดีแทค ส่อไฟลามทุ่ง สภาฯผู้บริโภค ทั่วประเทศ จ่อฟ้อง "กสทช."

15 ก.ย. 2565

สภาฯผู้บริโภค ตบเท้าเครือข่าย 14 จังหวัด จ่อฟ้อง "กสทช." หลังไม่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ประชาชนยืนข้างนายทุน ลอยแพค่าบริการ ทำตลาดโทรคมฯผูกขาดถาวร ท้ากสทช.ดีเบต ฟังเสียงรอบด้านก่อนลงมติ

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวในวงเสวนา “ผลกระทบการผูกขาดมือถือต่อสิทธิพลเมือง 5G” กล่าวว่า ประเด็นการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ขณะนี้อยู่ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังจะมีมติพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทันทีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเกี่ยวกับอำนาจของกสทช.ที่จะพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

โดยในส่วนตัวมองว่า การทำหน้าที่ของกสทช.ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่ต้องยืนอยู่ข้างประชาชนต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ดังนั้น สอบ.และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค 14 จังหวัด กำลังจะยื่นฟ้องกสทช. เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกสทช.ในประเด็นการพิจารณาการควบรวมดังกล่าว

ดีลควบรวมทรู-ดีแทค ส่อไฟลามทุ่ง สภาฯผู้บริโภค ทั่วประเทศ จ่อฟ้อง \"กสทช.\"

 

นอกจากนี้ สุภิญญา ยังระบุว่า จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ในทุกๆภาคส่วนเกี่ยวกับดีลครั้งนี้ เพราะไม่ได้มีเพียงแค่ภาคผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่หากอัตราราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 10-20 บาท ก็มีผลต่อการดำรงชีวิตแล้ว อีกทั้ง ยังมีกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้พิการ ซึ่งคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นหลักในการติดต่อสื่อสาร ดังนั้น หากควบรวมกันสำเร็จและราคาสูงขึ้น กลุ่มเหล่านี้อาจจะต้องไม่ถูกลืม

ดีลควบรวมทรู-ดีแทค ส่อไฟลามทุ่ง สภาฯผู้บริโภค ทั่วประเทศ จ่อฟ้อง \"กสทช.\"


 

“เสนอให้กสทช.จัดเวทีเปิดรับฟังความเห็นต่อเรื่องนี้ไปยังต่างจังหวัด เพราะเรื่องการควบรวมมันส่งผลถึงคนทั้งประเทศ ซึ่งกสทช.มีสำนักงานภูมิภาค 20 จังหวัด บอร์ดกสทช.ควรจะมอบนโยบายสั่งลงมา เพราะอย่าลืมว่า ภาคประชาชนมีหลายมิติและทุกกลุ่มควรมีสิทธิได้แสดงเจตนารมย์ของตัวเอง”

 

นอกจากนี้ สุภิญญา กล่าวอีกว่า การเรียกร้องของสอบ.ไม่ใช่แต่อยู่ในมุมของการดีลการควบรวมแต่ในอนาคตอีก 1-2 ปีโลกจะเข้าสู่ยุค IOT อย่างเต็มรูปแบบการใช้ชีวิตต้องพึ่งพิงกับอินเทอร์เน็ตตามพลวัตของโลก ดังนั้น สิทธิพลเมืองและเสียงของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่กสทช.หรือแม้แต่รัฐบาลเองไม่ควรเพิกเฉย และการรวมกันของสอบ.และเครือข่าย 14 จังหวัดจะช่วยให้เสียงที่ส่งออกมาทรงพลังมากขึ้น และก่อนที่จะกสทช.จะลงมติต่อดีลการควบรวมทรูและดีแทคอย่างไรนั้นควรฟังเสียงของประชาชน และต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นเรื่องนี้อย่างกว้างขวางและกระจายลงไปได้ทุกย่อมหญ้า

 

สภาฯ สวน 5 เหตุผล จากผู้บริโภคถึงผู้ขอควบรวม ซัดโฆษณาชวนเชื่อพูดแต่ประโยชน์เอกชน

 

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสอบ. กล่าวเสริมว่า นอกจากที่สอบ.และเครือข่าย 14 จังหวัดจะยื่นฟ้องกสทช.แล้ว สอบ.จะร่วมกับพรรคก้าวไกลในการยื่นฟ้องการทำหน้าที่ของกสทช.ในครั้งนี้ด้วย สำหรับประเด็นการควบรวมทรูและดีแทคนั้น ตนขอชี้แจงในมุมของผู้บริโภคว่า ทรูเคยส่งข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ 5 ข้อดีของการควบรวม แต่ในมุมกลับกันต้องมองว่าผู้บริโภคจะเสียอะไรไปบ้างหากการควบรวมสำเร็จ โดยทางสอบ.ก็มี 5 เหตุผลที่ไม่ควรอนุญาตให้ควบรวม

 

1.ค่าบริการสูงขึ้นแน่นอน เพราะจากการรายงานของอนุกรรมการกสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านคุ้มครองที่กสทช.ตั้งขึ้นมานั้น ก็ระบุว่าค่าบริการมีแนวโน้มสูงสุด สอดคล้องกับหลายๆหน่วยงานที่ระบุ ว่าจะเพิ่มขึ้น 12-224% ดังนั้น เมื่อกสทช.ยังไม่มีหลักประกันอะไรที่จะการันตีได้ว่าอัตราค่าบริการจะไม่สูงขึ้น การกำกับโปรโมชั่น และช่องทางการจัดจำหน่ายที่ต้องไม่เพิ่มภาระให้ผู้บริโภค กสทช.ไม่มีแผนเป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดการควบรวม

 

2.การควบรวมครั้งนี้คือการรวมกันของผู้ประกอบการรายที่ 2 และ 3 ในตลาด และหลังควบรวมจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือ 2 ราย คือ เอไอเอส และบริษัทใหม่ของทรูและดีแทค ที่จะมีส่วนแบ่งทารการตลาดเกิน 50% ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้บริการ และแม้จะอ้างว่า ยังเหลือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที และมี MVNO อื่นๆอีก 2 ราย ก็ไม่ได้สะท้อนการแข่งขันที่แท้จริงได้ ซึ่งหากปล่อยให้เกิดการควบรวมสภาวะตลาดจะเข้าสู่ระบบผูกขาดถาวร

 

3.การที่เอกชนอ้างว่าสาเหตุที่ต้องควบรวมเพราะธุรกิจโทรคมนาคมไม่ได้ทำกำไรแล้ว ดังนั้น การจะไปสู่บริษัทเทคโนโลยีจำเป็นต้องควบรวมกันนั้น ไม่จริงเสมอไปเพราะปัจจุบันแม้รายได้จากบริการด้านเสียง (Voice) ลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่รายได้จากบริการด้านข้อมูล (Data) ยังอยู่ในระดับที่สูง แสดงว่าผู้ประกอบการยังสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจนี้อยู่ และโครงข่ายโทรคมนาคมยังถือเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ สำคัญสำหรับการหารายได้

 

4.กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มนักเรียนที่ต้องใข้อินเทอร์เน็ตสำหรับการศึกษาจำเป็นต้องเติมเงินวันละ 30 บาท หรือเดือนละ 900 บาท ในประเด็นนี้กสทช.หรือทั้งทรูและดีแทค ยังไม่เคยมีแผนหรือมาตรการในการคุ้มครองดูแลคนเหล่านี้ และหากเมื่อมีการควบรวมแล้วจะยิ่งทำให้ประชาชนในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบหนัก

 

5.การควบรวมครั้งนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกสทช.มีอำนาจตามประกาศมิให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงการสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย อีกทั้ง กสทช. มีหน้าที่ในการนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด ปี 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กัน

 

ดีลควบรวมทรู-ดีแทค ส่อไฟลามทุ่ง สภาฯผู้บริโภค ทั่วประเทศ จ่อฟ้อง \"กสทช.\"

“กสทช.ควรเปิดเวทีดีเบตข้อดี-ข้อเสียการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ ให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะผู้บริโภคคือคนที่ต้องรับภาระปลายทาง และเมื่อมีเวทีดีเบตแล้ว มีคนพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหากปล่อยให้ควบรวม กสทช.จะไม่ฟังเสียงประชาขนเชียวหรือ จะมีความเห็นยืนคนละฟากกับประชาชนหรือ กสทช.ควรดำรงไว้ซึ่งเกียตริภูมิของตัวเอง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและชาติ”