มท.2 ติดตาม การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงบ้านสะเงียว
ทรงศักดิ์ ทองศรี มท.2 ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงบ้านสะเงียว จ.หนองคาย เพื่อป้องกันและลดความเสียหายจากการพังทลายของพื้นที่ตลิ่งริมแม่น้ำชายแดน
วันที่ 4 พ.ย. 2565 หนองคาย - นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อตรวจสภาพพื้นที่ก่อสร้างโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเทศบาลเมืองหนองคาย บริเวณพระธาตุหล้าหนอง ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 60 ล้านบาท และติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง บ้านสะเงียว หมู่ที่ 2 (ต่อเนื่องเขื่อนเดิม ปี 62 เหนือน้ำ) ตำบลกวนวัน อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยมีนางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ประชาชนในพื้นที่ร่วมต้อนรับ และนายวิชัย เพ็ญดี โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดหนองคาย บรรยายสรุปโครงการ
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำชายแดนของไทย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการสูญเสียดินแดนและการเปลี่ยนแปลงของแนวเขตแดนของประเทศไทย จังหวัดหนองคายเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เกิดปัญหาการกัดเซาะของตลิ่งริมแม่น้ำโขง ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงได้มอบหมายให้จังหวัดหนองคาย โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดหนองคาย ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง บ้านสะเงียว หมู่ที่ 2 (ต่อเนื่องเขื่อนเดิม ปี 62 เหนือน้ำ) ตำบลกวนวัน อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ความยาว 95 เมตร ดำเนินการก่อสร้างโดยใช้งบประมาณประจำปี 2565
"มีรูปแบบก่อสร้างเป็นเขื่อนป้องกันตลิ่งแบบเรียงหินตลอดแนวโครงการ เพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน สาธารณสมบัติ ทั้งของเอกชนและราชการตลอดจนป้องกันการสูญเสียชายแดนของประเทศ ตามแนวแม่น้ำชายแดนระหว่างประเทศ"มท.2กล่าว
นอกจากนี้ นายวิชัย เพ็ญดี โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดหนองคาย กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ดำเนินการโครงการฯ ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ความสำคัญและเน้นการมีส่วนร่วมภาคประชาชน โดยการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้โครงการที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและประเทศ หากโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ แล้วเสร็จสมบูรณ์ จะเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรง ป้องกันและลดความเสียหายจากการพังทลายของพื้นที่ตลิ่งริมแม่น้ำชายแดนระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและเป็นการรักษาเขตแดนทางธรรมชาติตามแนวแม่น้ำชายแดนของประเทศอีกด้วย
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/