ทิ้งท้าย 3 ปี “วรวุฒิ กาญจนกูล” นำ HBA เติบโตก้าวกระโดดปูทางสู่ความยั่งยืน
“วรวุฒิ กาญจนกูล” พา HBA สร้างสถิติใหม่ งาน"รับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022" หลังยอดจองทะลุ 4.3 พันล้าน สูงสุดในรอบ 18 ปี ต่อยอดสร้างบ้านประหยัดพลังงานควบคู่ธุรกิจ รับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปีหน้า และ"มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย"ในอนาคต
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน หรือ HBA อีกหนึ่งองค์กรแถวหน้าของธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีหลัง ที่นายวรวุฒิ กาญจนกูล เข้ามาดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) ท่ามกลางวิกฤติและปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
แต่ธุรกิจยังไงก็ต้องเดินหน้าต่อ และ นายวรวุฒิ เชื่อว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีความจำเป็นอยู่มากในสังคม จึงมีวิสัยทัศน์ ยึดแนวทางการบริหาร ภายใต้แนวคิด "3 สร้าง" และยกระดับความเชื่อมั่น ให้สมาคมฯ เป็นที่รู้จักเเละมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น
- วิสัยทัศน์ "3 สร้าง" ที่ต้องการผลักดันธุรกิจรับสร้างบ้านให้เติบโต
1.สร้างความเชื่อมั่น
-มีการพัฒนาเว็บไซต์สมาคมฯ พร้อมเพิ่มช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างและให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง
-การจัดงานแสดงสินค้า “รับสร้างบ้านและวัสดุ”
-การคัดกรองสมาชิกที่น่าเชื่อถือและมั่นใจได้
-การทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)
2. สร้างการมีส่วนร่วม
-มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจรับสร้างบ้าน
-มุ่งเน้นและให้ความสำคัญเรื่องแบบบ้าน, กระบวนการก่อสร้าง,
-กำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชัดเจน ที่นำเสนอต่อผู้บริโภคผ่านการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบต่างๆ
-มุ่งเน้นการทำกิจกรรมทั้งภายในสมาคมฯ และ หน่วยงานภายนอก
-มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก (Members)
3. สร้างการพัฒนาอย่าง"ยั่งยืน"
- มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรอบรมให้ความรู้กับสมาชิก อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างมาตรฐานงานก่อสร้างให้เป็นที่ยอมรับแก่ผู้บริโภค
-มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อให้สมาชิกเติบโตอย่างยั่งยืน
-มุ่งเน้นให้สมาชิกมีการปรับตัวและพร้อมรับสิ่งเปลี่ยนเเปลงใหม่อยู่เสมอ เช่น Global Trend หรือบ้านประหยัดพลังงาน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ในส่วนของสมาชิก (Member) ได้พัฒนาทั้งด้านจำนวน และด้านคุณภาพ ด้านจำนวน ในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นการขยายฐานสมาชิกทั้งกลุ่มรับสร้างบ้านและวัสดุได้มากที่สุดในรอบ 18 ปี โดยปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 134 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทรับสร้างบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 46 บริษัท ในพื้นที่ต่างจังหวัด 26 บริษัท และสมาชิกวัสดุก่อสร้าง 62 บริษัท
"สมาคมฯ พยายามยกระดับบริษัทรับสร้างบ้านทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยจากเดิมตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนสมาชิก 10% แต่ปัจจุบันมียอดสมาชิกใหม่ทะลุ 20% ไปแล้ว อีกทั้งยังรอการพิจารณาอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการขยายตัวรองรับความต้องการในตลาดภูมิภาคที่มากขึ้น" วรวุฒิ กล่าว
- ความสำเร็จ “HBA “ เติบโตสวนทาง กับวิกฤติ “โควิด-19”
ด้วยวิสัยทัศน์ 3 สร้าง ที่นายวรวุฒิ ได้กำหนดไว้ เป็นนโยบายการบริหารสมาคมฯ ทำให้เติบโตพร้อมทั้งพัฒนาในทุก ๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับความสำเร็จ โดยเฉพาะการสร้างสถิติใหม่ สำหรับงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 ภายใต้คอนเซ็ปต์ "สร้าง-เปลี่ยน-โลก" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 กันยายน 2565 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 6 เมืองทองธานี
นายวรวุฒิ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เปิดเผยว่า งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 “สร้าง-เปลี่ยน-โลก” ที่ผ่านมา นั้น กระแสตอบรับดีเกินคาด จากยอดจองสูงสุดในรอบ18 ปี ตั้งแต่มีการจัดงานตั้งเป้าไว้ 3.5 พันล้านบาท แต่ยอดจองทะลุเป้ามูลค่ากว่า 4.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา (2564) และคาดว่าจะมียอดสั่งสร้างบ้านเพิ่มเติมจากการติดตามภายหลังงานอีกไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท ผู้เข้าร่วมงาน 12,000 คน เพิ่มขึ้น 20%
"สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่ทุบสถิติ กว่า 4.3 พันล้าน รวมถึงจำนวนผู้เข้าชมงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการประชาสัมพันธ์งานที่ทั่วถึงในสื่อ เกือบทุกแพลตฟอร์ม อีกทั้งทาง “สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน" มีการสร้างความจดจำจากการออกสื่อต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มรู้จัก และสนใจ
รวมทั้งมีบริษัทรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดเข้าร่วมงานในปีนี้ ทำให้มีความหลากหลาย และครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเกือบทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้พบว่ามีผู้ที่ต้องการสร้างบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดร่วมชมงานเป็นจำนวนมากสอดคล้องกับเป้าหมายของสมาคมฯ ในอนาคต ที่จะเน้นรุกตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น
หลังพบว่า คนต่างจังหวัดในปัจจุบัน มีกำลังจ่ายที่สูงขึ้น และมีความต้องการที่จะสร้างบ้านไม่แตกต่างจากคนกรุง ทั้งเรื่องมาตรฐาน รูปแบบบ้าน ราคา รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง และปัจจุบันมักจะเจอปัญหา ผู้รับเหมาทิ้งงาน สิ่งนี้ถือว่าเป็นช่องโหว่ที่ทางสมาคมฯ มองเห็นเม็ดเงินมหาศาล จากการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
"ปัจจุบันทางสมาคมฯ มีสมาชิกทั้งหมด 134 บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และขณะนี้ก็เปิดรับสมัครสมาชิกทั่วประเทศ จึงอยากขอเชิญชวนบริษัทรับสร้างบ้านทั่วประเทศที่มีความตั้งใจจะพัฒนาตนเอง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท มาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เพื่อร่วมพัฒนาธุรกิจและเติบโตไปพร้อมกัน" นายวรวุฒิ กล่าว
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้านของไตรมาสช่วงสุดท้ายของปี 2565 ยังถือว่ายังไปได้ดี
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปี 2021 พบว่าบ้านราคา 2.5-5 ล้านบาท ปรับตัวลดลงมากที่สุดถึง 15% ในขณะที่บ้านราคา 10-20 ล้านบาท ความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 28% และบ้านในระดับ 20 ล้านบาทขึ้นไป มีความต้องการเพิ่มขึ้นสูงถึง 13%
"ภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้านของไตรมาสช่วงสุดท้ายของปี 2565 ยังถือว่ายังไปได้ดี ดูได้จากยอดจองปลูกสร้างบ้านในงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการสร้างบ้านในระดับราคา 10-20 ล้านบาท ที่มีการเติบโตสูงที่สุด รวมทั้งเห็นสัญญาณการขยายตัวที่ดีของดีมานด์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคตะวันออก"
อีกปัจจัยที่เป็นตัวเร่งการตัดสินใจสร้างบ้านเร็วขึ้นมาจาก "ต้นทุน" การสร้างบ้านที่ปรับตัว โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับขึ้นแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ประมาณ 5-6% จะส่งผลทำให้ค่าแรงสร้างบ้านต่อหลังสูงขึ้นอีกกว่า 1.5%
ส่วนราคาวัสดุก่อสร้างเริ่มปรับขึ้นราคา ผลมาจาก ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว การปรับค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจสร้างบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท มากที่สุด รวมไปถึงสงคราม รัสเซียและยูเครน ที่ทั่วโลกยังกังวล และตัวแปรหลักก็คือ ราคาน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้น
ส่วนภาพรวม ของตลาดรับสร้างบ้านในปี 2565 พบว่ามีมูลค่าประมาณ 12,500 ล้านบาท นับเป็นการใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายเมื่อเทียบกับ 1-2 ปีก่อนหน้านี้
นายวรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวคิดหลักของการจัดงาน "รับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022" ที่ผ่านมาได้มีการเน้นรักษ์โลก และตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ และสังคมเมือง โดยเฉพาะเรื่องการประหยัดพลังงาน และสิ่งแวดล้อม ผ่านแนวคิด "สร้าง-เปลี่ยน-โลก"
ที่สำคัญสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ คือ เน้นพัฒนาสังคม ควบคู่ไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG”
สำหรับแนวคิด "สร้าง-เปลี่ยน-โลก" เป็นมุมมองทางธุรกิจ ให้ทันสมัยเหมาะสมกับความต้องการของผู้คนในปัจจุบัน และอนาคต ที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ผลพวงมาจากภาวะโลกร้อนที่เริ่มทวีความรุนแรงต่อเนื่อง การสร้างบ้านจึงจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ ผ่านการสร้าง “บ้านประหยัดพลังงาน “ ที่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ทางสมาคมฯ ต้องต่อยอดธุรกิจในอนาคต
รวมทั้ง โครงการ "การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในภาคที่อยู่อาศัย" ที่ทำร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ - ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จัดการอบรมในหัวข้อ "การใช้พลังงานและการคำนวณการใช้พลังงานเพื่อการออกแบบบ้านพักอาศัย" เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน
"เปลี่ยน" เปลี่ยนแนวคิดและการเลือกใช้วัสดุแบบเดิม ๆ มาเป็นการใช้วัสดุทดแทนวัสดุธรรมชาติ เช่น การใช้วัสดุปูพื้นและผนังไม้เทียมที่ทดแทนไม้ธรรมชาติ เปลี่ยนมาใช้วัสดุรีไซเคิล ซึ่งมีผลต่อการช่วยลดโลกร้อน “ นายวรวุฒิ กล่าว
- "HBA - จุฬาฯ" จัดทำ "มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย" สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่นาย วรวุฒิ ได้เข้ามารับตำแหน่ง นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) ได้ทำงานควบคู่ไปกับการพัฒนา "มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน" เพื่อต้องการที่จะยกระดับคุณภาพบริการรับสร้างบ้าน สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค
จึงได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันพัฒนามาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพของการก่อสร้างบ้านให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมกับงานก่อสร้างบ้าน โดยศึกษาปัญหาของงานก่อสร้างบ้าน จากกรณีศึกษาของสมาชิกสมาคมฯ
จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการรวบรวมข้อมูล รูปแบบมาตรฐานการควบคุมงานก่อสร้าง และมาตรฐานการทำงาน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างมาตรฐานตามกรอบแนวคิด ตามหลักการประกันคุณภาพ รวมทั้งปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของสมาชิก โดยการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญ ด้านต่าง ๆ ของธุรกิจรับสร้างบ้าน เพื่อให้ได้คู่มือที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานของสมาคมฯ
"ในมาตรฐานฯ ฉบับนี้จะมีการระบุข้อมูลของผู้ดำเนินการและหน้าที่ความรับผิดชอบ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร ขั้นตอนการทำงาน การตรวจสอบคุณภาพ การปรับปรุงแก้ไข และข้อควรระวัง เป็นต้น โดยการออกแบบเฉพาะเพื่องานการก่อสร้างบ้านสำหรับสมาชิกของสมาคมฯ และเตรียมประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลดีในหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้งบริษัทรับสร้างบ้าน ผู้บริโภค และอุตสาหกรรมก่อสร้างในภาพรวม" นายวรวุฒิ กล่าว
- "HBA โมเดลความยั่งยืน"
ตลอดวาระ 3 ปี ที่นายวรววุฒิ ได้ทำหน้าที่แม่ทัพ พาสมาคมฯ สู่การเติบโตที่ยั่งยืน คือการให้ความสำคัญในการสร้างเสริมศักยภาพกับทุกส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน Alliance Partners
- สมาคม (Associate) สร้างการรับรู้และยอมรับของสังคม ด้านความน่าเชื่อถือในคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพ การเป็นศูนย์รวมฐานข้อมูล สถิติ และนวัตกรรม โดยเป็นผู้สะท้อนแนวคิดการสร้างบ้าน
- สมาชิก (Member) ขยายฐานสมาชิกเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยการเพิ่มจำนวนสมาชิกทั้งกลุ่มรับสร้างบ้านและวัสดุ
- เครือข่าย (Network) สร้างความเชื่อมโยงของเครือข่าย ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการสร้างมาตรฐานและบุคลากรในสายวิชาชีพ ในส่วนของเอกชนจะนำสินค้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสทางการค้าร่วมกันกับห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ รวมถึงเครือข่ายอื่น ๆ ที่จะทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
- ผู้บริโภค (Consumer) สร้างเสริมความเชื่อมั่นและเป็นที่พึ่งของผู้บริโภค ด้วยการให้ความรู้ คำปรึกษาปัญหาการสร้างบ้าน
จนทุกวันนี้ ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจและยอมรับผลงานของสมาคมฯ ผ่านสมาชิกที่มีความสามารถในการแข่งขันและมีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจ และสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างมั่นคงและยั่งยืน