"วิษณุ เครืองาม" เป็นประธานในพิธีไหว้ครูของผู้เข้าอบรม วทน.2
อาจารย์ "วิษณุ เครืองาม" เป็นประธานในพิธีไหว้ครูของผู้เข้าอบรม วทน.2 พร้อมมีวิทยากรระดับประเทศร่วมในพิธีอีก 11 ท่าน ส่วน ดร.เอ้ สุชัชวีร์ นำกลุ่มผู้เข้าอบรมมอบพวงมาลัยแทนคำขอบคุณ ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น
ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน เขตบางเขน กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 9 ธ.ค.65 ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง (วทน.) รุ่นที่ 2 วิทยาลัยทนายความ สภาทนายความฯ จัดพิธีไหว้ครู เพื่อระลึกถึงการมีพระคุณของครูที่มีต่อลูกศิษย์ และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม โดยมี 1.ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี ในฐานะครู ร่วมด้วยกับ 2.ศาสตราจารย์ พรชัย สุนทรพันธุ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา 3.รองศาสตราจารย์ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
4.ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัต ฉ่ำเฉลิม อดีตอัยการสูงสุด 5.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา สมาชิกวุฒิสภา 6.นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม 7.ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ 8.รองศาสตราจารย์ ณัฐพงศ์ โปษกะบุตร ที่ปรึกษาการกีฬาแห่งประเทศไทย 9.ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 10.พลเอกกฤษณะ บวรรัตนารักษ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 11.นายประภาศ คงเอียด กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 12.หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ ที่มาทำหน้าที่วิทยากรในการอบรมด้วย และมีตัวแทนกรรมการสภาทนายความฯ เข้าร่วมในพิธี ด้วย
สำหรับพิธีไหว้ครูนั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีตัวแทนผู้เข้าอบรมรำประกอบพิธีไหว้ครู และทางด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในฐานะประธาน วทน.รุ่นที่ 2 ตัวแทนผู้เข้าอบรม ได้มอบพานดอกไม้ธูปเทียนแพแด่ประธานในพิธี พร้อมกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดงานและนำผู้เข้าอบรมทั้งหมดอ่านบทไหว้ครู ก่อนมอบพวงมาลัย และรดน้ำแด่คณาจารย์ที่ร่วมงาน โดยทางคณาจารย์ได้ผูกข้อมือรับขวัญผู้เข้าอบรมด้วยความเป็นกันเอง พร้อมกันนี้ตัวแทนผู้เข้าอบรมได้มอบของที่ระลึกให้คณาจารย์และร่วมกันถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกด้วย
ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวว่า การกล่าวแถลงต่อคณาจารย์ที่มาในวันนี้เป็นประเพณีที่ดีงามและปฏิบัติกันมาตลอดในสังคมไทย คนจะเรียน ป.ตรี หรืออะไรก็ตาม เขาก็จะเริ่มด้วยการไหว้ครู ถือเป็นขนบธรรมเนียมที่ดีของไทยมาก่อน โดยเรามักจะไม่ค่อยได้เห็นการไหว้ครูสำหรับการอบรมใดๆมาก่อน โดยความจริงการบรรยายในหลักสูตรต่างๆ มีการเชิญวิทยากรมาบรรยาย แต่การที่ทุกคนรำลึกว่าพวกเรานอกจากจะเป็นวิทยากรแล้วยังเป็นคุณครูด้วย และมีการจัดพิธีไหว้ครู ในนามของคณาจารย์นั้น ก็ต้องขอบคุณ เป็นสิ่งที่ซาบซึ้งตรึงใจมาก
"ผมได้เคยมาเป็นประธานเมื่อคราวจัดรุ่นที่ 1 หลายคนนั่งในกลุ่มรุ่นที่ 1 วันนี้ขึ้นมานั่งบนเวที หลายๆท่านเคยนั่งแบบนี้ และถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะนั่งเป็นรุ่นที่ 3 4 ต่อไป ตรงนี้คือความหมุนเวียนที่เกิดขึ้น จึงอยากนำมาพูดซ้ำในรุ่นที่2 โดย 2 เรื่อง คือ มันเป็นอย่างที่อาจารย์สุชัชวีร์พูดว่าใครบางคนไม่ใช่นักกฎหมาย แล้วก็มาอยู่ในสังคมเดียวกัน ก็ต้องมาช่วยเหลือมาเป็นวิทยากร เพราะว่าทุกคนควรจะต้องมีความรู้มาช่วยเหลือในมิติต่างๆทั้ง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ สังคม แต่ว่าหลายๆท่านเป็นนักกฎหมาย อย่างน้อยที่สุดก็อยู่ในสภาทนายความ ซึ่งเป็นสถาบันกฎหมาย"
ศ.ดร.วิษณุ กล่าวอีกว่า เรื่องที่เคยพูดคือในวงการกฎหมายเขาถือว่ามีครู วงการดนตรี นาฏศิลป์มีครู วงการมวยก็มีครู ในวงการกฎหมายนั้นไม่ว่าจะเป็นทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ หรืออะไรก็ตามที่ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย เขาย่อมถือว่าครูของครูทั้งหลาย คือ เป็นเหมือนพระบิดาแห่งกฎหมายไทย หรือกรมราชบุรีดิเรกฤทธิ์
"คนทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจะต้องเป็นผู้ที่มีนิติทัศนะ มันคือการที่ต้องมีความคิดเห็นในทางกฎหมาย แปลว่าการมีไหวพริบปฏิภาณ ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นนักกฎหมาย แต่มีไหวพริบอย่างนักกฎหมาย นี่จึงเป็นผู้ที่มีนิติทัศนะ ดังนั้น ต้องการให้ทุกคนมีนิติทัศนะและเผยแพร่นิติทัศนะนี้ออกไป โดยคำในไทยอีกคำก็คือ คนที่มีหัวกฎหมาย ซึ่งถ้าใครมาบอกว่าเรามีหัวกฎหมาย ก็ขอให้กรุณายิ้มแก้มปริได้ เป็นคำในเชิงบวก แม้คนบางคนไม่ใช่นักกฎหมายแต่มีหัวกฎหมายถือเป็นเรื่องที่ดี"
ดร.วิเชียร ชุบไธงสง นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่าขอกราบขอบพระคุณคณาจารย์ทุกท่านที่ได้กรุณาให้เกียรติมาถ่ายทอดความรู้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากการถ่ายทอดความรู้จากคณาจารย์ทุกท่านในครั้งนี้ จะนำไปปรับใช้ในวิชาชีพการงานต่อไป ที่สำคัญงานนี้เป็นประเพณีที่ดีงามที่พวกเราจะสานต่อไป
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวว่า
กิจกรรมในครั้งนี้จัดเพื่อเเสดงถึงความตระหนักระลึกในพระคุณของครูบาอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทักษะและประสบการณ์แก่ลูกศิษย์ ตลอดจนเป็นการแสดงถึงความตั้งมั่นของศิษย์ว่าจะขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์โดยตรง มีจุดประสงค์ ดังนี้ 1.เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคณาจารย์ผู้ให้สรรพวิชาความรู้ต่างๆ ตลอดระยะเวลาการศึกษาการอบรมของหลักสูตร 2.เพื่อส่งเสริมความรักและความผูกพันทั้งหมดให้แก่คณาจารย์และผู้เข้ารับการฝึกอบรมของหลักสูตร ถึงแม้ว่าการฝึกอบรมจะสิ้นสุดลง แต่ความเป็นอาจารย์และลูกศิษย์จะยังคงดำรงอยู่ตลอดไป 3.เพื่อส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชนชาติไทยให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยจากรุ่นสู่รุ่น