‘พาณิชย์’ จับมือผู้นำเข้าผลไม้เจ้าใหญ่ในจีน จัดงาน Thai Fruit Golden Months
"พาณิชย์" ร่วมกับผู้นำเข้าผลไม้เจ้าใหญ่ในจีน จัดงาน Thailand Loves You - Thai Fruit Golden Months Nanning 2023 อย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองหนานหนิง ชูคุณภาพผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน
นางสาววรรณลดา รัตนพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง ได้จัดงาน Thailand Loves You - Thai Fruit Golden Months 2023 โดยความร่วมมือจาก นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และนายหยู ฮุ่ยหย่ง ประธานบริษัท Shenzhen Pagoda Industrial Co., Ltd. โดยได้รับเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและสื่อมวลชนต่างๆ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ภายในงานได้จัดกิจกรรมให้ความรู้โดยชิมทุเรียน (Durian tasting) โดยจัดชิมทุเรียน 5 สายพันธุ์ คือ ทุเรียนพันธุ์ชะนี ก้านยาว พวงมณี หมอนทอง นวลทองจันทร์ ผู้บริโภคทั่วไปยังได้มีโอกาสเพลิดเพลินกับกิจกรรมภายในงาน ทั้งการเล่นเกม แข่งกินผลไม้ ตอบคำถามชิงรางวัล ชิมผลไม้/ไอศกรีมที่ทำจากผลไม้ และเลือกซื้อผลไม้ที่ส่งตรงจากไทยในราคาสุดพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ส้มโอ มะม่วง มะพร้าว เป็นต้น
“ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เราได้ร่วมมือกับบริษัทนำเข้าผลไม้ขนาดใหญ่ในท้องถิ่นจัดงานส่งเสริมผลไม้ไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยในจีน อันเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ภายใต้ Theme "Thai Fruit Golden Months" โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของตลาดการบริโภคผลไม้ไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผลไม้ไทย ขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของผลไม้ไทยที่มีคุณภาพ และเพิ่มปริมาณการส่งออกผลไม้ไทยมายังจีน สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้
นอกจากจะจัดพื้นที่ขายสินค้าราคาพิเศษระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2566 หน้าห้างสรรพสินค้าหางหยาง ซึ่งเป็นห้างที่ได้รับความนิยมของชาวหนานหนิงแล้ว ยังมีกิจกรรมลดราคาพิเศษที่จัดคู่ขนานในร้านขายผลไม้ Pagoda ทั้ง 97 สาขา ทั่วเมืองหนานหนิง รวมทั้งทางแอพพลิเคชั่นของร้าน ในช่วงวันที่ 11-17 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้ผู้บริโภค ขาวจีนสามารถซื้อผลไม้ไทยที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยาได้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์อีกด้วย” ผอ.สคต. กล่าว
ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนมีมากถึง 22 สายพันธุ์ และกำลังยื่นขอเพิ่มสายพันธุ์ผลไม้ไทยเพื่อส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้น ประเทศไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลไม้ไทย รวมถึงการเชื่อมโยงของการผลิตที่ปลอดภัยทุกขั้นตอน ซึ่งดำเนินการตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด แหล่งกำเนิดต้องผ่านมาตรฐาน GAP คือการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี โรงงานแปรรูปต้องผ่าน GMP
ซึ่งเป็นการรับรองการปฏิบัติที่ดีในการผลิต ทั้งสถานที่ต้นทาง การแปรรูป และการผลิต จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนและการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน ดังนั้นผู้บริโภคจึงวางใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ผลไม้ของไทยมีคุณภาพและปลอดภัย