ชีวิตดีสังคมดี

"สวทช." เดินหน้ายุทธศาสตร์ผ่าน 4 เรื่องหลัก สร้างความยั่งยืนให้สังคม

"สวทช." เดินหน้ายุทธศาสตร์ผ่าน 4 เรื่องหลัก สร้างความยั่งยืนให้สังคม

18 ม.ค. 2566

"สวทช." เดินหน้ายุทธศาสตร์สร้างสังคมไทยยั่งยืนผ่าน 4 เรื่องหลัก ตั้งเป้าคนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีเกินล้านคน อนาคตอันใกล้เศรษฐกิจดี สังคมดี

ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า "สวทช." เป็นหน่วยงานการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีความเชี่ยวชาญครอบคลุม 5 สาขาวิจัยหลัก ที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ได้แก่

 

 

1.วิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยี 2. เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม 3. เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ 4. นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี และ 5. เทคโนโลยีพลังงาน

 

ศ.ดร. ชูกิจ

 

สำหรับการนำเอาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม เข้ามาสร้างคงามยั่งยืน ด้านเศรษฐกิน สังคม สุขภาภาพของคนไทย "สวทช." กำหนดเป้าไว้ในระยะ 4  ปี (2566-2570) ผ่านยุทธศาสตร์และเป้าหมาย ดังนี้ 

 

• ปรับกระบวนทัพสร้าง ‘ขุมพลังหลักด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ 

ศ.ดร.ชูกิจ

​ทิศทางการบริหาร สวทช. ยุค 6.0 ผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่า ได้ปรับวิสัยทัศน์องค์กรครั้งใหม่ โดยมุ่งเป้าขับเคลื่อน สวทช. เป็น “ขุมพลังหลักของประเทศ” ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของรัฐและเอกชน ชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญ นำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด

 

 

โดยการจัดกระบวนการวิจัยและกลไกที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือประชาชนและชุมชนต้องเข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ได้จริง ซึ่งหากทำได้สำเร็จอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ช่วยให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์และเห็นความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจชาติให้ก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง

 

​สวทช. มุ่งมั่นสร้างผลงานด้าน วทน. ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และ 4. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานในการพัฒนา เน้นดำเนินงานการพัฒนาภายใต้ โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) และแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Strategy)

 

 

สร้างกลยุทธ์ NSTDA Core Business นำพลังวิจัย รับใช้สังคม

 

ด้วยปัญหาคอขวดที่งานวิจัยของประเทศไทยจำนวนมากยังไม่สามารถผลักดันไปสู่การใช้จริงในภาคส่วนต่างๆ ได้ "สวทช." ยุค 6.0 ภายใต้การบริหารของ ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ในวาระแรกนี้ ได้กำหนดนโยบายที่เรียกว่า “NSTDA Core Business” โดยในเฟสแรกได้คัดเลือกงานวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมี 4 เรื่องหลัก คือ

 

-Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง -Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มแก้ปัญหาการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ 

 

-FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient) ในรูปแบบ One stop service 

 

 -Thailand i4.0 Platform แพลตฟอร์มให้บริการ Digital Transformation สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจร

 

 

ศ. ดร.ชูกิจ กล่าวว่า แนวทางในการดำเนินการ NSTDA Core Business คือ การระดมความเชี่ยวชาญของบุคลากรจำนวนมากจากหลายส่วนงานมาขับเคลื่อนและผลักดันสมรรถนะหลักขององค์กร ให้นํามาสู่การใช้ประโยชน์จริงผ่านเครือข่ายพันธมิตร และสร้างผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยกตัวอย่าง เทคโนโลยีในด้านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมากแต่ประเทศไทยยังไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานในภาคส่วนต่างๆ ได้มากเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ "สวทช." เล็งเห็นความสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายเพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้งานในสังคมได้มากขึ้น

 

 

ศ. ดร.ชูกิจ กล่าวด้วยว่า สวทช. พร้อมส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบให้กับประเทศ โดยนำความรู้ เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญของ สวทช. ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ และเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยจะส่งเสริม ผลักดัน และประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน หน่วยวิจัย และภาคประชาสังคมเพื่อร่วมกันยกระดับและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาสาธารณะที่สำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในประเทศให้ดีขึ้น และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น