ดัน 'ตัวเงินตัวทอง' เป็นสัตว์เศรษฐกิจ กรมอุทยานฯ หวั่นสูญพันธุ์ คนลอบขโมย
ดัน 'ตัวเงินตัวทอง' เป็นสัตว์เศรษฐกิจ กรมอุทยานฯ หวั่น สูญพันธุ์ หากยกเลิกพ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครอง หวั่นคนแสวงประโยชน์ ลักขโมยทางธรรมชาติ ด้าน มหิดล มุ่งวิจัยเลือด หวังได้ยายับยั้งเซลล์ มะเร็งแบคทีเรีย ไวรัสก่อโรคอุบัติใหม่
กลายเป็นประเด็นภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ตำรวจ ปทส. สนธิกำลังกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บุกจับกุมแหล่งชำแหละ "ตัวเงินตัวทอง" และสัตว์เลื้อยคลายชนิดต่าง ๆ ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแหล่งใหญ่ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ก่อนที่เพจชื่อดังในโซเชียลระบุว่า มีดัดแปลงใช้เนื้อตัวเงินตัวทองทำเป็นลูกชิ้นปลาเนื้อขาวใสไร้ความคาว ส่วนหนังนำไปตากแห้งทำเป็นหนังปลาทอดกรอบ ส่งขายทั่วประเทศ
สุดท้ายได้รับคำกล่าวอ้างจากผู้เกี่ยวข้องว่า เนื้อ "ตัวเงินตัวทอง" นำส่งร้านอาหารป่า ทว่าสถานการณ์นี้น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มีกลุ่มที่พยายามผลักดันให้ยกเลิก "พ.ร.บ."“ตัวเงินตัวทอง”กลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจได้
นายเผด็จ ลายทอง "ผอ" สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์ "ตัวเงินตัวทอง" ในปัจจุบันว่า "ตัวเงินตัวทอง" กระจายอยู่ทั่วไป และไม่เคยสำรวจจำนวนจริงจัง เพราะที่ผ่านมา "ตัวเงินตัวทอง" ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ยังถูกล่า ผู้ล่าคือมนุษย์ เพราะ "ตัวเงินตัวทอง" ไปรบกวนประชาชน บางตัวอาจไม่ได้ตั้งใจเข้าบ้านเรือน แต่ถูกความกลัวของมนุษย์ขับไล่ บางตัวตาย บางตัวบาดเจ็บ ตัวไหนบาดเจ็บจะถูกนำไปรักษาที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อรักษาหายดีแล้วก็จะส่งคืนสู่ธรรมชาติ
"เราจะเห็นข่าว "ตัวเงินตัวทอง" เข้าบ้านคนบ่อยๆ และยังมีข่าวเรื่อยๆ เพราะ"ตัวเงินตัวทอง" ยังเป็นที่รังเกียจของคน มันชอบอยู่ในที่ไม่เหมาะสม ชอบกินซากสิ่งมีชัวิต แต่ก็ไม่ใช่ชอบกินแต่ซาก มันชอบกินของที่เล็กกว่าปาก เช่นไก่ เป็ด คนเลยไม่ชอบ แต่ถ้าวันหนึ่งยกเลิกกฎหมายให้เพาะพันธุ์ได้ จะมีคนต้องการใช้ประโยชน์จากเขา เขาจะ "สูญพันธุ์" เร็ว ซึ่งการพิจารณายกเลิกต้องผ่านการประเมินว่ามีโอกาสสูญพันธุ์น้อยมาก หรือไม่มีเลย จึงจะยกเลิกได้ หรือถ้าหากผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ตรงนี้ต้องดูว่าเพาะพันธุ์ได้มั้ย สามารถเพาะได้จริงหรือไม่ ถ้าเพาะได้แล้วคุ้มค่าจริงรึเปล่า หากยกเลิกคุ้มครองไปแล้ว เพาะพันธุ์ไม่ได้ ก็จะเกิดปรากฎการณ์ลักขโมยทางธรรมชาติ เป็นปัญหาตามมาอีก" นายเผด็จ ลายทอง กล่าว
อย่าไรก็ตามที่ผ่านมา "มหาวิทยาลัยมหิดล" ได้มีความพยายามจะวิจัยศึกษาคุณสมบัติทางยาจากเลือด "ตัวเงินตัวทอง" เพื่อดูฤทธิ์การยับยั้งเซลล์ "มะเร็ง" แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคอุบัติใหม่ รวมทั้ง โควิด 19 ซึ่งหากบรรลุผลได้ตามเป้าหมายจะกลายเป็นรายแรกของโลก
ซึ่งงานวิจัยนี้เกิดจากสมมุติฐานที่ว่า ทำไม "ตัวเงินตัวทอง" ถึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จากการกินซากสิ่งมีชีวิต และแม้ในน้ำเน่าเสีย จึงเกิดความคิดที่จะริเริ่มศึกษาถึงระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของสัตว์เลื้อยคลานซึ่งอยู่ในประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว จึงได้ขออนุญาต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือดจาก "ตัวเงินตัวทอง" โดยใช้เลือดตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งในเบื้องต้นพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนเชื้อแบคทีเรียบางชนิด รวมถึงอาจต่อยอดเพื่อศึกษาการยับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งรวมถึงโควิด 19