ชีวิตดีสังคมดี

'ปิดอ่าวอันดามัน'​ ห้ามล่าสัตว์วางไข่​  ผิดปรับหนัก​ 30​ ล้าน​ เสี่ยงติดคุก

'ปิดอ่าวอันดามัน'​ ห้ามล่าสัตว์วางไข่​ ผิดปรับหนัก​ 30​ ล้าน​ เสี่ยงติดคุก

26 มี.ค. 2566

'ปิดอ่าว​อันดามันปี​ 2566'​ ห้ามล่าสัตว์ทะเลวางไข่ในเขต​ภูเก็ต​ พังงา​ สตูล​ กระบี่​ เตือนประมงฝ่าฝืน​โทษปรับสูงสุด​ 30​  ล้าน​ เสี่ยงติดคุกอีก

ผลการศึกษาทางวิชาการระบุว่า​ "สัตว์ทะเล" ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ​หลายชนิด มีไข่​ วางไข่​ และเลี้ยงตัวอ่อน​ จะมีความหนาแน่นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี​ และเพื่อเพิ่มความสมดุลทางธรรมชาติ​ จึงจำเป็นต้อง "ปิดอ่าวอันดามันปี​ 2566​" ห้ามล่าสัตว์วางไข่

"กรมประมง" ประกาศ "ปิดอ่าวอันดามันปี​ 2566" โดยห้ามล่าสัตว์วางไข่ในเขตทะเลอันดามัน​ พื้นที่​ 4​ จังหวัด​ ได้แก่​ ภูเก็ต​ พังงา​ กระบี่​ และตรัง​

 

แผนที่แสดงจุดปิดอ่าวอันดามัน​

 

ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร​ ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา​ อำเภอเมืองภูเก็ต​ จังหวัดภูเก็ต​ ถึงปลายแหลมหยงสตาร์​ อำเภอเหลียน​ จังหวัดตรัง​

 

ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566​ เพื่อปกป้องและรักษาสัตว์น้ำมีไข่​ วางไข่​ และเลี้ยงตัวอ่อน​  นำไปสู่การเพิ่มผลผลิต​ "สัตว์น้ำ" ​ เพื่อคงความสมดุลทางธรรมชาติ

 

เรือประมง

 

ทั้งนี้​ มีผลการศึกษาทางวิชาการ​ พบว่า​ "สัตว์น้ำ" ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด มีความสมบูรณ์เพศสูง โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนพบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความหนาแน่นสูงสุดถึง 1,197 ตัว/1,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)​ ซึ่งมากกว่าช่วงอื่นๆ​ ที่มีความหนาแน่นเพียง 470 ตัว/1,000 ลบ.ม.

 

อย่างไรก็ตาม​ การ​ "ปิดอ่าวอันดามันปี​ 2566" ​ นี้​ ไม่ได้สั่งห้ามล่า​ "สัตว์ทะเล"  โดยเด็ดขาด เพียงแต่ห้ามใช้เครื่องมือประกอบกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ)  เรือประมงที่มีขนาดเกิน 10 ตันกรอส และกำลังแรงม้าเกิน 280 แรงม้าเด็ดขาด

 

 

13​ เครื่องมือประมงที่สามารถใช้ได้

 

สำหรับเครื่องมือประมงที่ให้ใช้​ มีทั้งหมด 13 เครื่องมือ ได้แก่  1.​ อวนลากแผ่นตะเฆ่​  2.​ อวนล้อมจับปลากะตัก 3. อวนติดตาปลา 4. อวนปู​ อวนลอยกุ้ง​ อวนหมึก 5.​ อวนครอบ​ อวนช้อนหรืออวนยกหมึก 6. ลอบปู 7. รอบหมึกทุกชนิด 8.​ ซั้ง 9.​ คราดหอย​ 10. อวนรุนเคย 11. จั่น​ ยอ​ แร้ว​ สวิง​ แห​ เบ็ด​ สับปะนก​ ขอ​ ลอบ​ ฉมวก 12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง​ และ13. เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส

 

กรมประมงขอเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามกฎหมายการ​ "ปิดอ่าวอันดามันปี​ 2566"  อย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมง หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่​ 5​ พันบาทถึง​ 30​ ล้านบาท ทั้งนี้​ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ​ประมง หรือปรับจำนวน​ 5​ เท่าของมูลค่า​ "สัตว์น้ำ" ที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครอง

 

ส่วนกรณีการจ้างแรงงานผิดกฎหมายมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 4-8 แสนบาทต่อราย ขณะที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานหากเกิดกรณีเดียวกันนอกจากปรับ 2 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท แล้วยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 1-5 แสนบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน