'กำแพงกันคลื่น' ปราการใหญ่กั้นทะเลกับพื้นดิน ทำลายนิเวศ แวดล้อมไม่คุ้มงบ
'กำแพงกันคลื่น' แนวกันคลื่นเซาะชายฝั่งสูงใหญ่กั้นระหว่างทะเลและพื้นดิน ทุ่มงบประมาณมหาศาล แต่ทำลายระบบนิเวศชายฝั่งและสร้างทัศนะอุจาด ผลพวงการยกเลิกทำ EIA ทำให้กำแพงซีเมนต์ผุดเหมือนดอกเห็ด
"กำแพงกันคลื่น" สิ่งปลูกสร้างริมชายฝั่งทะเลที่ดูเหมือนว่าจะเป็นป้อมปราการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นจำนวนมหาศาล แต่ในทางกลับกัน กำแพงกันคลื่นกลับแฝงไปด้วยผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อชาวบ้าน ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ผลกระทบด้านสาธารณสุข ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบอันสุดท้ายเราอาจจะคิดไม่ถึง
ในประเทศไทยมีแนวขายฝั่งทะเลยาวทั้งด้านอ่าวไทย และอันดามันประมาณ รวม 3,148 กม. ซึ่งการก่อสร้าง "กำแพงกันคลื่น" อยู่ในความดูแลของกรมโยธาธิการและผังเมือง และยังมีที่เป็นแนวชายฝั่งที่อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่าอีกจำนวนหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการประกาศยกเลิกการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปเมื่อปี 2556 พบว่ามีโครงการ "กำแพงกันคลื่น" ระบาดมากมาย และส่งผลกระทบอย่างมาก
8 ปีที่ผ่านมาที่ไม่มี EIA ผุด "กำแพงกันคลื่น" กว่า 100 โครงการงบพันล้าน
ข้อมูลจาก Beach for life ระบุว่า หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 รัฐบาลได้มีมติให้ยกเลิกการทำงาน EIA ในโครงการก่อสร้าง กำแพงกันคลื่น ช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า มีโครงการก่อสร้างเกิดขึ้นจำนวนมาก "กำแพงกันคลื่น" เกิดขึ้น 125 โครงการทั่วทุกชายหาดในประเทศไทย ใช้งบประมาณในการดำเนินการรวม 8,400 พันล้านบาท โดยกรมโยธาธิการฯ ดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น 107 โครงการระยะทาง 70 กม. ตลอดแนวชายฝั่ง งบประมาณ 6,600 ล้านบาท ส่วนของกรมเจ้าท่ามีทั้งหมด 18 โครงการ งบประมาณ 1,700 ล้านบาท
โดยการก่อสร้าง "กำแพงกันคลื่น" ทุก ๆ 1 กม.จะใช้งบประมาณราวๆ 100-200 ล้านบาท ส่วนใหญ่การก่อสร้างจะเป็นรูปแบบคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งมีอายุการใช้งานนานถึง 50 ปี หรือในทางภาคใต้จะมีการใช้หินขนาดใหญ่วางซ้อนทับกัน ซึ่งรูปแบบนี้จะใช้งบประมาณราว ๆ 80 ล้านบาทต่อกม. แต่ทั้งนี้กลับพบว่า บางจุดมีการก่อสร้าง กำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันถนนเพียงเส้นเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจะลักษณะงานก่อสร้างที่ไม่รู้จบหากมีการก่อสร้าง 1 เมตร ก็จะต้องก่อสร้างต่อไปเรื่อยๆ จนสุดทะเล
เทียบตัวเลขก่อนและหลังยกเลิก EIA สร้าง "กำแพงกันคลื่น"
ข้อมูลจาก Beach for life ระบุว่า ในปี 2552-2556 กำแพงกันคลื่น 2002 เมตรขึ้นไปต้องทำ EIA พบว่ามีการก่อสร้างโครงการขนาดต่ำกว่า 200 เมตร จำนวน 13 โครงการ มากกว่า 200 เมตรเพียง 3 โครงการ หลังจากนั้นในปี 2557-2566 เป็นระยะเวลาที่กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA พบว่า เกิดการระบาดของ กำแพงกันคลื่นจำนวน 125 โครงการ นอกจากนี้ยังพบว่างบประมาณในการทำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ระยะเวลากว่า 8 ปี กรมโยธาฯ ใช้งบประมาณมากถึง 1,365,697,000 บาท
"กำแพงกันคลื่น" ปราการสูงใหญ่ กระทบตั้งแต่ทะเลยันบนบก
นายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life ให้ข้อมูลกับ คมชัดลึก ว่า ที่ผ่านมามีการก่อสร้าง กำแพงกันคลื่น เพื่อกั้นการกัดเซาะระหว่างทะเลและพื้นดินจำนวนมาก ซึ่งการก่อสร้างในลักษณะดังกล่าวเราพบว่า บางจุดไม่ได้มีการกัดเซาะจนกระทบต่อความเป็นอยู่ แต่กลับมีการทำแนวกันคลื่นจนกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน การท่องเที่ยว รวมถึงระบบนิเวศของชายทะเล
อย่างไรก็ตามพบว่า กำแพงกันคลื่นส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยจากข้อมูลระบุว่าชายหาดจะมีความกว้างประมาณ 35 เมตร ขนาดของกำแพงกันคลื่นอยู่ที่ 22 เมตร เท่ากับว่าหากมีการก่อสร้างจะทำให้ชายหาดเหลือพื้นที่เพียงแค่ 10 เมตรเท่านั้น หรือบางจุดไม่เหลือชายหาดเลย เช่น ในพื้นที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากก่อสร้างแนวกันคลื่นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบนิเวศน์ เศรษฐกิจ ท่องเที่ยง นอกจากนี้การทำแนวกันคลื่นยังเป็นการรุกรานบริเวณหากินของสัตว์ทะเลบางประเภท เช่น กุ้งเคย
ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจาก กำแพงกันคลื่นแต่พบว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างแนวกันคลื่นยังสร้างความแตกแยก และความขัดแย้งให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย
นายอภิศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างดังกล่าว เช่น บริเวณหาดแม่รำพึง ที่เกิดคววามขัดแย้งในชุมชนอย่างมาก เพราะชาวบ้านในพื้นที่มีความเห็นว่า การก่อสร้าง กำแพงแนวกันคลื่น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด อีกทั้งยังทำลายความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เพราะไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านของหน่วยงานที่ดูแล
อีกหนึ่งปัญหาที่หนักไม่แพ้กัน คือ หลายครั้งที่พบว่ามีประชาชนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ จากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนว่า มีเพียงไม่กี่เคสที่ไปถึงระบบสาธารณสุข เเต่เชื่อว่ามีเคสอีกมากมาย เช่น ล้มถลอก ล้มขาพลิก ฯลฯ ที่ไม่ไม่ไปหาหมอ อย่างกรณีชะอำ มีเคสล้มเเล้วเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยกว่า 100 ครั้ง จากที่สัมภาษณ์ผู้ประกอบการมา ในอนาคตหากปล่อยไว้ก็จะกระทบต่อระบบสาธารณสุขได้เช่นกัน
ข้อเรียกร้องจาก Beach for life เสียงเตือนล่าสุดให้รัฐรับผิดชอบ
กรมโยธาฯ ต้องทบทวนแนวทางในการป้องกันชายฝั่ง และเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกรมโยธาธิการที่ต้องดำเนินการ เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาว่ากรมโยธาฯ เป็นกรมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมและสารทุกข์สุขของประชาชน จึงขอเรียกร้องไปยังกรมโยธาฯ ดังนี้
1. กรมโยธาฯ ต้องยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เเละเเสดงรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อันเป็นผลสืบเนื่องจากโครงการของกรมโยธาฯ รวมถึงผลกระทบในมิติอื่น ที่เกิดขึ้นจากการที่กรมโยธาฯ ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดให้กลายสภาพเป็นกำแพงกันคลื่น
2. กรมโยธาฯ ต้องเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับอุบัติเหตุจากการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการอย่างเป็นธรรม และครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกมิติโดยไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ
3.กรมโยธาฯ ต้องมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายซ้ำรอยกรณีดังกล่าวนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ชายหาด
4.กรมโยธาฯ ต้องปรับรูปแบบโครงการหรือแสวงหามาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของกรมโยธาฯ
5.กรมโยธาฯ ต้องไม่ผลักภาระความรับผิดชอบโดยการส่งมอบโครงการให้กับท้องถิ่นรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากบางท้องถิ่นนั้น มิอาจมีศักยภาพ งบประมาณ บุคลากร หรือ ความรู้ในการบริหารจัดการโครงสร้างที่กรมโยธาธิการก่อสร้างไว้ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว
“อย่างไรก็ตามเราคาดหวังว่ากรมโยธาฯ จะนำเอาเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ชายหาด เป็นบทเรียนตอกย้ำความล้มเหลวในการดูแลโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง และตระหนักถึงผลกระทบของกำแพงกันคลื่นในมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการป้องกันชายฝั่งที่จะสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และคงรักษาสภาพแวดล้อมชายหาดไว้ มากกว่าการป้องกันด้วยแนวคิดวิศวกรรมที่มุ่งเน้นความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างชายฝั่ง โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต สวัสดิภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อมดังเดิม” นายอภิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย