ชีวิตดีสังคมดี

เชียงใหม่ไม่ทน! ฟ้องซ้ำใจ 'ประยุทธ์'  แก้ PM2.5-หมอกควันไม่สำเร็จ

เชียงใหม่ไม่ทน! ฟ้องซ้ำใจ 'ประยุทธ์' แก้ PM2.5-หมอกควันไม่สำเร็จ

10 เม.ย. 2566

คนเชียงใหม่สุดทน! ทำไมปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 หมอกควันแก้ไม่สำเร็จ ยื่นศาลปกครองเอาผิด 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' และพวก เพิกเฉยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ นักวิชาการระบุรัฐล้มเหลว

16 ปี "PM2.5" และหมอกควันปกคลุมน่านฟ้าเมืองเชียงใหม่ ปีนี้รุนแรงและยาวนานที่สุด ต้นต่อมีความสลับซับซ้อน หลักๆ คือ ระบบการผลิตภาคเกษตร พฤติกรรมคนในเมืองและเกษตรกร ข้อจำกัดแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐ รวมถึงข้อจำกัดด้านการเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดศึกษาวิจัยผลกระทบ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและมาตรการแก้ไข วันนี้ชาวเชียงใหม่หมดความอดทนต่อความเพิกเฉยของผู้นำประเทศ จึงรวมตัวกันยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่เอาผิด "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี 

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่

 

 

"ผมเป็นคนภาคกลาง แต่มาอยู่เชียงใหม่ได้ 40 ปี และจะตายที่เชียงใหม่ แต่ก่อนตายขอสู้ไว้ให้ลูกหลานที่จะอยู่ต่อไปได้อากาศที่ดี บางวันผมเห็นหลานเลือดกำเดาไหล มันรุนแรงจริงๆ นะ ปีนี้ 80 กว่าวันแล้ว แต่ยังไม่เห็นความจริงใจของนายกมาแก้ปัญหาเลย สิ้นเดือนนี้ฟ้าเปิดโล่ง ที่สุดปัญหาก็ไม่ถูกแก้ และเงียบไป" "นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ" ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เล่าความในใจตลอด 16 ปี

 

"นายชัชวาลย์" เล่าต่อว่า พวกเขาเฝ้ามองการแก้ปัญหาของภาครัฐมาตลอด แต่ไม่เคยเห็นความจริงใจ ไม่กระตือรือร้น ไม่มีนโนบายชัดเจน ไม่มีความใส่ใจ สถานการณ์วิกฤตขั้นรุนแรง แต่นายกรัฐมนตรียังไม่สั่งการหรือมีมาตรการแก้ไขเร่งด่วนออกมา คุณภาพอากาศ "PM2.5" เกินค่ามาตรฐาน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ควรต้องยกระดับนโยบายแก้ไขที่ชัดเจน แต่ที่ผ่านมาไม่แสดงให้เห็น หลังจากวันนี้ (10 เม.ย.66) จะเฝ้าติดตามการแก้ปัญหาของภาครัฐแบบใกล้ชิด ยังมีความหวังว่าจะแสดงเจตจำนงว่าต้องการแก้ไขจริงๆ ไม่ใช่แก้ไขแบบ "อีเว้นท์"  แล้วจบไป ใกล้สิ้นเม.ย. ท้องฟ้าเปิดสถานการณ์คืนสภาพปกติทุกคนก็เงียบไป ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป 

 

 

 

ชาวเชียงใหม่ช่วยกันทำแนวกันไฟป่า

 

 


"มันถึงเวลาที่นโยบายต้องชัดเจน ต้องกำหนดมาตรการแก้ไข ปีหน้าสถานการณ์หนักกว่านี้ ถ้าไม่มีนโยบายก็เป็นความทุกข์ของประชาชน หมอกควัน ไฟป่า ฝุ่น ส่วนใหญ่มาจากป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ แต่เจ้าหน้าที่มีน้อยมาก ยังไงก็ทำงานไม่ทัน รัฐต้องแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่าที่กฎหมายคุมอยู่มีเรือนพัน เรือนหมื่นต้องให้พวกเขามีส่วนร่วมในการแก้ไข กำหนดเป็นแผนในแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจนไปเลย รัฐต้องปลดล็อกกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ใช่น่าร้อนเรียกชาวบ้านมาดับไฟช่วย แต่หน้าฝนไล่จับพวกเขา ออกระเบียบการดูแลป่า ให้ใช้ไฟได้ แต่ต้องอยู่ในระเบียบควบคุม ดึงภาคธุรกิจ นักวิชาการหนุนกัน ส่วนฝุ่นข้ามแดน รัฐบาลก็หยุดซื้อข้าวโพด เพราะข้าวโพดส่งผลกระทบ รัฐกีดกันได้ ภาษีนำเข้าศูนย์บาทยกเลิกไปเลย" "นายชัชวาลย์" เสนอความเห็น

 

 

 

ภาคประชาชนรวมตัวฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ กรณี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และพวกเพิกเฉยกับการแก้ปัญหาฝุ่นควัน

 

 

 

การยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ครั้งนี้ เกิดจากการรวมตัวกันของภาคีเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ ทั้งนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และประชาชนทั่วไป โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนการฟ้องตั้งแต่วันที่ 7-9 เม.ย. 2566 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 727 คน และลงชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนประเด็นการแก้ไขวิกฤตฝุ่นจากเกษตรพันธสัญญา จำนวนกว่า 980 คน 

 

 

 

ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ

 

 


"นายสุมิตรชัย หัตถสาร" ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนท้องถิ่น หนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง บอกด้วยว่า แผนฝุ่นแห่งชาติที่มีมาตั้งแต่ปี 2562 ไม่ใด้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ส่วนมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสั่งแวดล้อม ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ แต่นายกรัฐมนตรี กลับไม่ได้ใช้อำนาจนี้ ปัญหาสำคัญคือกฎหมายและแผนที่มีอยู่ไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างเต็มที่ จึงอยากเห็นการนำแผนมาใช้ปฏิบัติการจริง เพื่อให้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

 

 

 

ด้าน "นพ.รังสฤษฏ์ กาญจนะวณิชย์" อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ประชาชนในเมืองต้องเจอ "PM2.5" ระดับเฉลี่ยต่อปีเกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมะเร็งปอดชนิดที่มักพบในคนไม่สูบบุรี่ เพิ่มขึ้น 7 เท่า รวมถึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอายุเฉลี่ยสั้นลง 4-5 ปี

 

 

 

"เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจากภาครัฐด้วยเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แน่วแน่ ไม่เกรงใจกลุ่มทุน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยของคนได้นับล้านคน" นพ.รังสฤษฏ์ ระบุ

 

 


นอกจากฟ้องเอาผิด "พล.อ.ประยุทธ์" เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 แล้ว พวกเขายังฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และคณะกรรมการกำกับตลาดหุ่น ผู้ถูกฟ้องที่ 4 

 

 

 

  • คำร้องสำคัญทางคดี 3 ประการ

1. ฟ้องนายกรัฐมนตรี ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น "PM2.5" มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์

2. ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหา มลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ 

3. ฟ้องคณะกรรมกากำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 OneReport หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น "PM2.5" ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายัง

 

 

 


คำถามก็คือว่า "ทำไมการแก้ปัญหาหมอกควันของรัฐจึงล้มเหลว" นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุไว้ว่า นอกจากข้อมูลดัชนี PM2.5 และดัชนี IQAIR ที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียใต้แล้ว หลักฐานแสดงความล้มเหลวของนโยบายป้องกันฝุ่น PM2.5 คือ แผนและแนวทางปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควันของเชียงใหม่ในปี 2561–2562 ที่เน้นมาตรการป้องกัน และมาตรการการกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด  ผลการดำเนินงานปรากฎว่า จำนวนวันที่ค่า PM10 เกินมาตรฐาน สูงถึง 37 วัน เทียบกับตัวชี้วัดที่ต้องไม่เกิน 10 วัน

 

 

 

  • ความล้มเหลวของรัฐมาจากข้อจำกัดและจุดอ่อนสำคัญ 

แนวทางการจัดการฝุ่น "PM2.5"  แบบภัยพิบัติ ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม เช่นการตั้งกรรมการในเดือนตุลาคมก่อนมีฝุ่น "PM2.5"  และสลายตัวเดือนพฤษภาคม ทำให้ขาดความจำสถาบัน ขาดการจัดการและการศึกษาวิเคราะห์แบบต่อเนื่องโดยมืออาชีพ กรณีนี้ต้องเปลี่ยนระบบการจัดการเป็นการจัดการเชิงโครงสร้าง

 

 


ท้องถิ่นขาดเงิน และถูกซ้ำเติมจากกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ แม้ว่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณได้ริเริ่มให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการให้จังหวัด และกลุ่มจังหวัดภายใต้โครงสร้างการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2560 และตั้งแต่ปี 2561 มีการตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเลขา

 

 


โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการกำหนดนโยบายแผนพัฒนาภาคแบบ One Plan ทำงานแบบเครือข่าย มีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดผ่านกระบวนการล่างสู่บน (Bottom Up) โดยมีคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) เป็นผู้ทำแผนระดับรอง ส่วน ก.บ.จ. คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดระดับอำเภอตามความต้องการของตำบล/หมู่บ้าน และมีอนุกรรมการของ ก.บ.ภ. (คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค) กลั่นกรองแผนที่ ก.บ.ภ. อนุมัติ ส่วน สศช.กำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณกลุ่มจังหวัดร้อยละ 30 และจังหวัดร้อยละ 70 ซึ่งแบ่งงบบูรณาการเป็น 2 ประเภท ได้แก่ งบบูรณาการตามยุทธศาสตร์ (Agenda) และบูรณาการตามพื้นที่ใต้จังหวัด/กลุ่มจังหวัด

 

 


ภาพ:สภาลมหายใจเชียงใหม่