เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา จี้ 'อธิการบดี มมส.' สอบอาจารย์รับทำ ‘อีไอเอ’โรงงาน
เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา บุกยื่นหนังสือถึงมือ 'รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล' อธิการบดี มมส. ขอให้สอบจรรยาบรรณการวิจัยอาจารย์ ‘บุคลากร-นิสิต’ ให้หยุดรับจ้างทำอีไอเอ ให้กับโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล หวั่นทำลายทุ่งกุลาดินแดนข้าวหอมมะลิโลก
ที่บริเวณหน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม "เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา" ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 20 คน นำโดยน.ส.หนูปา แก้วพิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้เข้ายื่นหนังสือถึง รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่องขอให้บุคคลากรและนิสิตใหยุดรับจ้างทำหรือเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA) โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ต.โนนสวรรค์ และสอบจรรยาบรรณการวิจัย โดยการมาครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เขาใหญ่ มาดูแลความเรียบร้อยหลายนาย
โดยเนื้อหาหนังสือระบุว่า ตามที่บริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด ได้มอบหมายให้บริษัท เทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย จำกัด จัดเตรียมรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จะตั้งที่ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)นั้น
พวกข้าพเจ้า "เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา" ซึ่งประกอบไปด้วยสภาองค์กรชุมชนตำบลโนนสวรรค์ สภาองค์กรชุมชนตำบลสระบัว องค์กรประชาชนหลายองค์กร และนักวิชาการ ได้คัดค้านโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด
และพบว่าการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จะตั้งที่ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด มีการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน
ซึ่งพวกข้าพเจ้าได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและให้ระงับกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง 2 โครงการไว้ก่อน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏว่ามีบุคลากรในสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้งอาจารย์และนิสิต ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จะตั้งที่ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด
โดยเห็นว่าการกระทำของบุคลากรสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ละเมิดกระบวนการและละเมิดสิทธิชุมชนของพวกข้าพเจ้า "เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา" จึงขอร้องเรียนต่อท่านในฐานะผู้บังคับบัญชาของบุคคลากรดังกล่าวข้างต้น ดำเนินการดังนี้
1.สั่งการให้ อาจารย์และนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคามยุติการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จะตั้งที่ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด โดยทันที และห้ามไม่ให้เข้ามีส่วนร่วมในการจัดประชุมรับฟังความเห็นที่จะจัดในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่ตำบลโนนสวรรค์
2.ให้มีการตรวจสอบจรรยาบรรณการวิจัย ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าการเก็บข้อมูลดังกล่าวได้มีการขอจรรยาบรรณการวิจัยหรือไม่ และผิดจรรยาบรณการวิจัยหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลที่เก็บถือว่าเป็นการวิจัยในมนุษย์
3.ให้มีการสอบวินัยอาจารย์และบุคลากรดังกล่าว ว่า การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเก็บข้อมูลในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จะตั้งที่ตำบลโนนสวรรค์ ขัดต่อระเบียบมหาวิทยาลัยหรือไม่ เนื่องจากบุคคลทั้งสองได้แสดงบัตรประจำตัวบุคคลากรสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระหว่างลงพื้นที่เก็บข้อมูล
4.เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ขอเรียนให้ท่านทราบว่า โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยทำลายวิถีชีวิตของชาวนาทุ่งกุลา ทำลายทุ่งกุลาที่เป็นดินแดนข้าวหอมมะลิโลกที่ได้รับการจดสิทธิบัตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และยังจะก่อให้มลพิษทางการอากาศโดยเฉพาะการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากโรงงานและจากการเผาอ้อย โครงการทั้งสองยังขัดต่อไม่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน
ดังนั้น พวกข้าพเจ้าจึงขอให้มหาวิทยาลัยมีจุดยืนในการสนับสนุนการพัฒนาทุ่งกุลาให้มีความยั่งยืน การพัฒนาที่มาจากประชาชน และการเคารพสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน ให้สมกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ว่า “ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าประการใด ขอให้แจ้งต่อพวกข้าพเจ้าด้วย โดยจดหมายดังกล่าวลงชื่อน.ส.หนูปา แก้วพิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ลงมาพบกลุ่มชาวบ้านพร้อมกับรับหนังสือไป และรับปากว่าจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ จากนั้นกลุ่มเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาจึงได้เดินทางกลับ