ชีวิตดีสังคมดี

เชียงราย ยืน 1 'PM2.5' ทะลุ 148 มคก. เชียงใหม่อากาศดีขึ้น อยู่อันดับ 11 ของโลก

เชียงราย ยืน 1 'PM2.5' ทะลุ 148 มคก. เชียงใหม่อากาศดีขึ้น อยู่อันดับ 11 ของโลก

25 เม.ย. 2566

ค่าฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมโครกรัม หรือฝุ่น 'PM2.5' ใน 4 จังหวัดภาคเหนือยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ เชียงราย วัดได้สูงสุดที่ 148 มคก./ลบ.ม. ตามด้วย พะเยา น่าน และลำปาง ด้าน เชียงใหม่อากาศดีขึ้น อยู่อันดับ 11 ของโลก กรุงเทพฯ อันดับ 15 ปักกิ่งทำสถิติเมืองฝุ่นสูงสุด

รายงานค่าฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมโครกรัม หรือฝุ่น  "PM2.5" จากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 09:00 น. ของวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่าจังหวัดที่มีค่า "PM2.5" อยู่ในระดับสีแดงและมีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย มีค่า "PM2.5" สูงสุดที่ 148 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ตามด้วย พะเยา น่าน และลำปาง ในขณะที่อีก 19 จังหวัดเกินค่ามาตรฐานในระดับสีส้ม ประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ

 

 

ขณะที่ เว็บไซต์ IQAIR รายงานเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 เม.ย.ว่า ปักกิ่งเป็นเมืองที่ค่าฝุ่นสูงสุดของโลกที่ 200 มคก./ลบ.ม. ส่วนของไทยปรากฎว่าค่าฝุ่นที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองทำลายสถิติติดอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องในหลายวัน ล่าสุด เชียงใหม่อากาศดีขึ้น บ้างแล้ว อันดับลดลงมาอยู่ที่ 11 ของโลก ขณะที่กรุงเทพฯ ติดอันดับ 15

ด้าน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 24 เม.ย. 2566 โดยพบจุดความร้อนในไทยลดลงเหลือ 289 จุด สาเหตุหลักคาดว่ามจากเกิดพายุลมแรงและฝนตกเนื่องจาก พายุฤดูร้อน ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ครองอันดับหนึ่งอยู่ที่ 1,123 จุด เมียนมา 807 จุด เวียดนาม 314 จุด กัมพูชา 151 จุด และมาเลเซีย 52 จุด

 

 

ข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่า จุดความร้อนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. พบในพื้นที่เกษตร 131 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 62 จุด ป่าอนุรักษ์ 53 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 24 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 15 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 4 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ พระนครศรีอยุธยา และ เชียงราย เท่ากัน 26 จุด ตามลำดับ โดยค่าความร้อนดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ "PM2.5" สูงขึ้น

สถานการณ์ฝุ่นภาคเหนือ

 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากเพจ GISTDA อธิบายว่า ดาวเทียมสามารถวัด ค่ารังสีความร้อน หรือ รังสีอินฟราเรด ได้ โดย ดัชนีความร้อน คือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฎในขณะนั้นเป็นเช่นไร 

 

ค่าดัชนีความร้อนนั้นคำนวณมาจาก "ค่าอุณหภูมิอากาศ" และ "ค่าความชื้นสัมพัทธ์" สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้ ซึ่งในช่วงหน้าร้อนที่มีอุณหภูมิอากาศ อุณหภูมิพื้นผิว หรืออุณหภูมิความส่องสว่างที่สูง อาจจะทำให้คน "เป็นลมแดด" หรือ "ฮีทสโตรก" (Heatstroke) ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน 

 

ผู้ที่ป่วย ฮีทสโตรก เกิดจากที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้าอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต 

 

นอกจากนี้ จิสด้ากำลังจะส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศปลายปีนี้ จำนวน 2 ดวง ซึ่งจะมาช่วยเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพให้กับหน่วยงานในการกำหนดนโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา

 

สำหรับ "รังสีความร้อน" หรือรังสีอินฟราเรด (Infrared : IR) ที่รู้จักในวงการสำรวจระยะไกล เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 0.76-1000 ไมโครเมตร (µm) ซึ่งอยู่ในช่วงของแสงที่สายตามองไม่เห็น แต่สามารถรับรู้ถึงความร้อนที่เกิดขึ้นได้ โดยรังสีอินฟราเรดมีคุณสมบัติทางกายภาพเช่นเดียวกับคลื่นแสงที่ตามองเห็นได้ทุกประการ เช่น การหักเห การสะท้อน การดูดซับ หรือการส่องผ่านตัวกลาง เป็นต้น 

 

 

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานรังสีอินฟราเรด หรือรังสีความร้อนในงานสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยดาวเทียม ประกอบด้วย ดังนี้ 

 


จุดความร้อน (Hotspot)  คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีค่าความร้อนสูงผิดปกติ ดาวเทียมหลายดวงถูกพัฒนาระบบเซนเซอร์ให้มองเห็นค่าความร้อนบนผิวโลก สามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟราเรด หรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส บนพื้นผิวโลกได้ ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลและแสดงให้เห็นในรูปแบบจุด ตัวอย่างดาวเทียมที่มีช่วงความยาวคลื่นในการวัดค่าความร้อน เช่น ดาวเทียม Terra, Aqua, Suomi NPP, NOAA และดาวเทียม Himawari เป็นต้น

 


อุณหภูมิพื้นผิว (Land Surface Temperature: LST) เป็นการศึกษาความร้อนพื้นผิวโลก รับรู้จากการสัมผัสพื้นผิวโลกจากช่วงคลื่นอินฟราเรดความร้อน (Thermal Infared) ซึ่งอาจเป็นหลังคาบ้าน ยอดตึก น้ำ หรือน้ำแข็ง ดังนั้น อุณหภูมิพื้นผิวจึงไม่เหมือนกับอุณหภูมิภายในอากาศ ตัวอย่างดาวเทียมที่มีช่วงความยาวคลื่นในการวัดค่าความร้อน เช่น ดาวเทียม Landsat-9, Suomi NPP, Terra, Aqua เป็นต้น

 


ดัชนีบ่งชี้สภาพอุณหภูมิความส่องสว่างของพื้นผิวปัจจุบัน (Temperature Condition Index : TCI) เป็นการวิเคราะห์ค่า Brightness Temperature (BT) ที่หาได้จากข้อมูลช่วงคลื่น ณ เวลาปัจจุบันที่สนใจว่า อยู่ในตำแหน่งใดของช่วงค่า BT ต่ำสุดกับค่า BT สูงสุด สำหรับพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แบบรายจุดภาพว่า อยู่ในระดับที่แตกต่างไปจากปกติ มากน้อยเพียงใด โดยอาศัยข้อมูลอดีต ช่วงคลื่นความร้อน (Thermal IR) ของเซนเซอร์ดาวเทียม ตัวอย่างดาวเทียมที่มีช่วงความยาวคลื่นในการวัดค่าความร้อน เช่น ดาวเทียม NOAA, Suomi NPP, Terra, Aqua เป็นต้น