ชีวิตดีสังคมดี

11 ปีเส้นทางปรับเงิน 'เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า' ภาระยิ่งใหญ่กับค่าจ้าง 11,000

11 ปีเส้นทางปรับเงิน 'เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า' ภาระยิ่งใหญ่กับค่าจ้าง 11,000

17 พ.ค. 2566

11 ปีกับกว่าจะได้ปรับเงินค่าจ้างของ 'เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า' ภาระกิจยิ่งใหญ่ดูแลป่า 73 ล้านไร่ทั่วประเทศ คุ้มไหมกับค่าจ้าง 11,000 บาท

"เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า" อาชีพที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงฟันเฟืองเล็กๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผืนป่าที่กว้างใหญ่ของประเทศไทย สำหรับหน้าที่หลักๆ ของ "เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า" มีภารกิจในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรของชาติในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ รวมกว่า 73 ล้านไร่  

 

 

 

แม้ว่า "เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า" จะมีภาระกิจหน้าที่ในการดูพื้นป่าหลายล้านไร่ แต่หากย้อนกลับไปดูค่าตอบแทนกลับได้น้อยนิด จนล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้เสนอกรมบัญชีกลางขอขึ้นค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่หลังจากที่ไม่ได้ขึ้นค่าตอบแทนมานานกว่า 10 ปี แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

  • 11 ปี เส้นทางปรับค่าตอบแทน "เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า" จากปี 2555-2566  

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ขอขึ้นเงินเดือนให้แก่ "เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า" จาก 9,000 บาทเป็น 11,000 บาท  โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้รับการปรับค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2555 จาก 6,000 เป็น 9,000 บาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับภาระกิจหน้าที่กับค่าตอบแทนดุเหมือนว่าจะไม่มีความสอดคล้องกัน เพราะหน้าที่ของ "เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า"  ไม่ได้ใช่แค่การดูแลลาดตระเวนพื้นป่าเพียงย่างเดียว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้กรมอุทยานฯ จะต้อง เพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานจำนวน  13,419 อัตรา เป็น 11,000 บาท มีผล 1 ต.ค. 2566 โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 8-10 คน จะออกลาดตระเวนเดือนละ 4 ครั้ง ครั้งละ 3 ถึง 4 คืน แม้การออกลาดตระเวนจะมีค่าเสี่ยงภัยตอบแทนครั้งละ 1,500 บาท

 

 

ขอบคุณภาพจากมูลนิธิสืบนาคะเถียร

 

 

  • "เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า" กับภารกิจ หน้าที่อันยิ่งใหญ่คุ้มหรือไม่ค่าจ้าง 11,000 บาท    

เจ้าหน้าที่  "เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า" มีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างมาก เพราะการปฏิบัติงานภาคสนาม และการอยู่ในพื้นที่ป่า เป็นงานที่มีลักษณะพิเศษ เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการออกลาดตระเวนเพื่อป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ปราบปรามการลักลอบจุดไฟเผาป่า ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการวางแผนจับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ ตลอดจนติดตาม จับกุม ควบคุมผู้ต้องหานำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี โดยมีพื้นที่ป่าที่ต้องดูแลทั่วประเทศกว่า 73 ล้านไร่ ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้มีการจ้างประชาชนทั่วไปผู้มีความรู้ความสามารถ มีความชำนาญในสภาพภูมิประเทศ มีทักษะในการเดินป่า เพื่อร่วมปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เพื่ออกไปลาดตระเวนในพื้นที่ป่าทุรกันดารตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน 

 

 

 

  • ส่องงบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบุคลากรภาครัฐของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการปรับลดลงต่อเนื่องเกือบทุกปี โดยตั้งแต่ปี 2563-2566 มีงบประมาณดังนี้ 

  • ปี 2563 11,450 ล้านบาท 
  • ปี 2564 11,422 ล้านบาท 
  • ปี 2565 11,333 ล้านบาท 
  • ปี 2566 11,045 ล้านบาท 

 

 

ขอบคุณภาพจาก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร