ชีวิตดีสังคมดี

อาชญากรป่าไม้รุกราน 'ไม้พะยูง' เหลือแค่ที่ไทยแห่งเดียวในโลก

อาชญากรป่าไม้รุกราน 'ไม้พะยูง' เหลือแค่ที่ไทยแห่งเดียวในโลก

30 พ.ค. 2566

เมื่อ "ไม้พะยูง" เหลือที่ไทยแห่งเดียวในโลก "อาชญากรป่าไม้" รุกรานเกือบหมด ตามตะเข็บชายแดนเหลือแค่ 1 ใน 3 ที่เคยมี มอดไม้ลักลอบตัดไม้รวม 11 ปีเสียหายคิดเป็นเงินไม่ต่ำ 2,500 ล้านบาท "กรมป่าไม้" ปรับแผนเป็นศูนย์กลางการค้าป่าไม้แบบถูกกฎหมาย

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้จากป่าธรรมชาติในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แนวตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะ "ไม้พะยูง" ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ทว่ายังเป็นข้อสงสัยกันอยู่ว่า ลดลงเพราะไม่มี "ไม้พะยูง" ให้ลักลอบตัด หรือภาครัฐออกกฎเหล็กห้ามส่งออก "ไม้พะยูง" นอกราชอาณาจักรเด็ดขาด

 

 

พื้นที่ป่าใน จ.อุดรธานี

 

 

แต่ที่แน่ๆ คือ ป่าไม้ถูกทำลายด้วยน้ำมือ "มอดไม้" ที่มีทัศนคติไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของ "อาชญากรรมป่าไม้" และไม่รับรู้ถึงความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สนใจถึงปัญหาความรุนแรง 

​​​​​ พระราชบัลลังก์ในพระที่นั่งเฉียนชิง

 

 

  • ทำไม "ไม้พะยูง" ถูกลักลอบตัดและมีราคาแพง

เชื่อและเล่าต่อกันมาว่า สาเหตุที่ทำให้ "ไม้พะยูง" ถูกลักลอบตัดกันมากและมีราคาแพงนั้น มีเรื่องเล่าว่า กว่า 10 ปีที่ผ่านมาทางการจีนได้บูรณะซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม หรือ "กู้กง" เมื่อช่างได้รื้อและซ่อมงานไม้ต่างๆ ภายในวัง ต่างก็ได้พบว่า ไม้ส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับฮ่องเต้ เช่น เก้าอี้ โต๊ะต่าง ๆ เป็นต้น ล้วนทำมาจาก "ไม้พะยูง" และยังมีสภาพสมบูรณ์ดีมาก ทั้งๆ ที่ผ่านมานานหลายร้อยปี ทำให้มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล แต่ในปัจจุบันก็ใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะประเทศเพื่อนบ้านถูกตัดหมดเกลี้ยงแล้ว คงเหลือแต่ประเทศไทย

แผนที่แสดงจุดอนุรักษ์ป่า

 

 

  • "ไม้พะยูง" ถูกทำลายไปแล้ว 2 ใน 3 จากที่เคยมีอยู่

ในระหว่างปี  2552-2563 รวม 11 ปี ทางการไทยตรวจยึด "ไม้พะยูง" ได้จำนวนมากกว่า 15,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงินค่าเสียหายต่อรัฐไม่ต่ำ 2,500 ล้านบาท  ตรวจยึดได้มากที่สุดในปี 2557 ยุครัฐประหาร โดย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" และลดลงเรื่อยๆ จนกระทั้งเกือบเป็นศูนย์ในยุคเดียวกัน

 

 

ข้อมูลตรวจยึดไม้พะยูง

 

ไม้พะยูงทางการไทยตรวจยึดไว้ได้

 

 

  • ช่วง 2-3 ปีหลังส่งออกผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ไปจีนลดลง

ข้อมูลยืนยันจาก "อะกิโกะ อิโนะกูจิ" เจ้าหน้าที่ป่าไม้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้อธิบายว่า  ปัจจุบันภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่าน จากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการลักลอบตัดไม้และการค้าไม้ผิดกฎหมายสู่ยุคของการค้าป่าไม้อย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นก้าวสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศของป่าไม้ การป้องกันสัตว์ป่าจากการรุกราน และการบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

 

 

อะกิโกะ อิโนะกูจิ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

 

 

ในอดีตการค้าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ไปยังประเทศจีนมีบทบาทสำคัญต่อการลักลอบตัดไม้ภูมิภาคนี้อย่างมาก แต่ในช่วง 2-3 ปีหลังการส่งออกผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ไปยังประเทศจีนลดลงต่อเนื่อง  จากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดประกอบกับจำนวนป่าไม้ที่ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 จากที่เคยมีอยู่ ขณะที่ประเทศไทยและเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วสู่การเป็นศูนย์กลางของการค้าผลิตภัณฑ์ป่าไม้อย่างถูกกฎหมายระดับโลก

 


"การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลดีต่อการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการค้าไม้ในภูมิภาคนี้ และสร้างโอกาสให้เกิดการปรับเปลี่ยนของการค้าไม้และการอนุรักษ์ป่าไม้ในภูมิภาค" "อะกิโกะ" ระบุ

 


ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนี้ยังมีความท้าทายที่มากมาย เช่น การยกระดับระบบการติดตามตรวจสอบของอุตสาหกรรมการค้าป่าไม้และการทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยที่ประกอบธุรกิจขายผลิตภัณฑ์และเส้นใยที่ได้จากป่าไม้ในภูมิภาค

 

 

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญอีกประการ คือ การรับรู้ของประชาชนต่อการลักลอบตัดไม้และอาชญากรรมป่าไม้ โดยผลสำรวจความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ พบว่า 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของอาชญากรรมป่าไม้ และไม่รับรู้ถึงความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

 

"แคทรีนา บอร์โรมิโอ" เจ้าหน้าที่โครงการและการสื่อสาร โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวด้วยว่า ความไม่รู้เหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนไม่ใส่ใจที่จะมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ป่าไม้ และขัดขวางการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับป่าไม้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90 ก่อให้เกิดความกดดันต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ในภูมิภาคนี้อย่างมาก

 

 

 

  • นวัตกรรมตรวจสอบป่าไม้และพื้นดินขั้นสูง

เมื่อความต้องการซื้อ กับความต้องการขายไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ทรัพยากรแทบไม่เหลือ กรมป่าไม้ประเทศไทยและจีน ได้จับมือกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในประเทศจีนและประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ (UN Decade of Ecosystem Restoration) 

 


ได้เริ่มดำเนินการเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่บุคคลากรที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันระบบนิเวศของป่าไม้

 

 


เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์และต่อสู้กับอาชญากรรมป่าไม้ที่เกิดขึ้น ความเข้มงวดกับการดำเนินนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการนำนวัตกรรมการตรวจสอบป่าไม้และพื้นดินขั้นสูง ที่นำกล้องตรวจจับและโดรนประสิทธิภาพสูงมาใช้เพื่อการเฝ้าระวังและตรวจสอบพื้นที่ป่า ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการป้องกันการลักลอบตัดไม้ และอาชญากรรมป่าไม้

 

 

นวัตกรรมการตรวจสอบป่าไม้และพื้นดินขั้นสูง ที่นำกล้องตรวจจับและโดรนประสิทธิภาพสูงมาใช้เพื่อการเฝ้าระวังและตรวจสอบพื้นที่ป่า

 

 

  • นวัตกรรมตรวจสอบป่าไม้และพื้นดินขั้นสูง ประกอบด้วย 3 เทคโนโลยี

• Pitak Prai แอปพลิเคชันที่ส่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการบุกรุกในพื้นที่ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเกิดการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการแจ้งเตือนและติดตามสถานการณ์ไฟป่า
• e-TREE แพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นโซลูชันที่ยกระดับการติดตามและตรวจสอบการบริหารจัดการป่าไม้
• NCAPS เป็นเครื่องมือควบคุมระยะไกลที่ใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในการลาดตระเวนและตรวจจับพฤติกรรมที่ต้องสงสัยและการลักลอบตัดไม้

 

 

ฟื้นฟูป่าไม้พะยูง

 

 

  • ปรับแผนเป็นศูนย์กลางการค้าป่าไม้

"อ้อมจิตร เสนา" นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวในท้ายที่สุดว่า  การอนุรักษ์ป่าไม้และการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืน ต้องการแนวทางที่ชัดเจนและครอบคลุม ในการดูแลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การบริหารจัดการป่าไม้ การขนส่ง การออกใบอนุญาตรับรอง การตลาด ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นด่านหน้าในการประยุกต์การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เพื่อปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าป่าไม้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน "ไม้พะยูง" จัดเป็นไม้สงวน หากใครมีไว้ในครอบครองจะถือว่ามีความผิด (มีสถานภาพเป็นไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก) และประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับปรับปรุง โดยกำหนดให้ "ไม้พะยูง" ท่อน ไม้พะยูงแปรรูป ไม้พะยูงล้อม และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้พะยูง เป็นสินค้าห้ามส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ลงวันที่ 17 ม.ค. 2566