เปิดนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ขับเคลื่อนสังคม-ตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า
ครั้งแรกในไทย "กฟผ.-กฟน.-กฟภ." ผนึกจัด "งานแสดงผลงานนวัตกรรม 3 การไฟฟ้า" ขับเคลื่อนสังคม เสริมแกร่งด้านพลังงาน ผุด "รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า EGAT E-BIKE" ประหยัดเงินได้กิโลเมตรละ 1 บาท "หุ่นยนต์ซ่อมไฟ" แต่ไม่ต้องตัดกระแสไฟฟ้า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยภายในปี 2580 ถูกพยากรณ์ไว้ว่า 50,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปัจจุบันความต้องการใช้อยู่ที่ราวๆ 30,000 เมกะวัตต์ แน่นอนว่า ประเทศไทยไม่ขาดแคลนไฟฟ้า เพราะแผนการผลิตไฟฟ้าของ "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย" หรือ "กฟผ." มีกำลังการผลิตเพียงพอ และพร้อมจ่ายไฟฟ้าแม้ในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน
ภารกิจนอกจากเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ครอบคลุมการจ่ายไฟให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้ว "กฟผ." กฟน. และกฟภ. ได้คิดค้น "นวัตกรรม" ตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
"นวัตกรรม" การันตีหลายรางวัลจากทั่วประเทศ ถูกนำมารวมกันในงาน "แสดงผลงานนวัตกรรม 3 การไฟฟ้า" ใจกลางโรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงาน ซึ่งมีทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ รวมถึงผู้ประกอบการ ตลอดทั้งวัน
ทันทีที่เข้ามาภายในงาน ต้องสะดุดตากับรถจักรยานยนต์สีเหลือง ที่มี "เกรียงไกร หอมสุวรรณ์" ช่างระดับ 6 ของ "กฟผ." ยืนรออธิบายผลงานให้กับผู้ที่สนใจฟัง "เกรียงไกร" บอกกับเราว่า นวัตกรรมนี้ คือ "รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EGAT E-BIKE)" เป็นพลังงานสีเขียวช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่น
"EGAT E-BIKE" พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ออกแบบให้ขับขี่ด้วยความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มอเตอร์ขนาด 3 กิโลวัตต์ สามารถวิ่งได้ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง มีระบบแจ้งเตือนพลังงานที่หน้าปัดเป็นระบบดิจิทัลตลอดการใช้งาน และยังได้รับการรับรองฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5
"เราทดสอบ EGAT E-BIKE จำนวน 51 คัน ด้วยการวิ่งภายในองค์กร ผลปรากฏว่า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 8.9 ตัน และลดฝุ่น PM 2.5 ได้ 606 กรัม ตลอดระยะเวลา 1 ปี จึงได้ผลิตขึ้นอีก จำนวน 51 คัน เพื่อนำไปมอบให้กับพี่วินรับจ้างที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EGAT E-Bike) ภายใต้แนวคิด "บิดเปลี่ยนโลก" แบบฟรีๆ เป็นเวลา 1 ปี ผลปรากฏว่า ประหยัดค่าน้ำมันได้กิโลเมตรละ 1 บาท รวมเป็นเงิน 837,201 บาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 45.5 ตัน ลดฝุ่น PM 2.5 ได้ 3,107 กรัม" "เกรียงไกร" อธิบาย
อีกนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน คือ "หุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่อการบำรุงรักษาสายส่ง (Smart Robot for Transmission Line Maintenance)" โดย "อนุพงษ์ แปงน้อย" ช่างระดับ 6 ของ กฟผ. เชียงใหม่ เล่าว่า หุ่นยนต์ตัวนี้มีน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ความสามารถ คือ วิ่งไต่บนสายดินเหนือดิน (Overhead Ground Wires-OHGW) ไปยังจุดที่สายส่งมีปัญหาหลุดเลื่อนออกไป และสามารถตรวจสอบจับยึดที่หลุดเลื่อน โดยใช้มือและแขนกลทำงาน แล้วทำการดึงลากสายส่งให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งปกติ
หุ่นยนต์ตัวนี้จะควบคุมการทำงานโดยใช้รีโมทคอนโทรล ซึ่งผู้ควบคุมจะดูจากกล้องที่ถูกติดไว้ที่หุ่นยนต์ผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ สามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องขอดับกระแสไฟฟ้า
"ปกติเวลาสายส่งหลุดเลื่อนผิดตำแหน่ง ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปแก้ไข 13 คน รถ 4 คัน เงิน 14,700 บาท และใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง แต่หลังจากมีนวัตกรรมนี้ ใช้เจ้าหน้าที่แค่ 7 คน รถ 2 คัน ไม่เสียเงิน และไม่ต้องตัดกระแสไฟเลย แต่อนาคตผมจะพัฒนาให้น้ำหนักหุ่นยนต์ลดลงไปอีกจาก 30 กิโลกรัม จากรุ่นแรกหนัก 50 กิโลกรัม" "อนุพงษ์" เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากมีนวัตกรรม
"หุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่อการบำรุงรักษาสายส่ง" เป็นหนึ่งผลงานที่ได้จัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) และได้รับรางวัล Bronze Award อีกด้วย
"อนุพงษ์" เล่าทิ้งท้ายว่า สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ "กฟผ." ทำหน้าที่ส่งพลังงานไฟฟ้าปริมาณมากจากโรงไฟฟ้าไปสู่พื้นที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกมุมของชีวิตขับเคลื่อนได้ตลอด 24 ชั่วโมง แน่นอนว่าหากขาดหรือชำรุดย่อมทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง คือ ไฟฟ้าตกหรือดับเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นแม้แต่วินาทีเดียว
ดังนั้น สายส่งไฟฟ้าแรงสูงจึงได้รับการดูแลบำรุงรักษาให้คงอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม การทำงานบนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่นอกจากจะทั้งสูงและเสียวแล้ว ยังมีกระแสไฟฟ้าระดับแรงดันนับหลายแสนโวลต์ไหลอยู่ในสายไฟฟ้าแรงสูงที่ไม่มีฉนวนหุ้มอีกด้วย จึงนับเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย "หุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่อการบำรุงรักษาสายส่ง" ช่วยแก้ปัญหาจุดนี้ได้อย่างดี