ชีวิตดีสังคมดี

ไทยเข้าสู่ 'เอลนีโญ' ผู้เชี่ยวชาญชี้ปี 66 จะรุนแรงจากนี้อีก 5 ปีเผชิญแล้งนาน

ไทยเข้าสู่ 'เอลนีโญ' ผู้เชี่ยวชาญชี้ปี 66 จะรุนแรงจากนี้อีก 5 ปีเผชิญแล้งนาน

19 มิ.ย. 2566

ไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ 'เอลนีโญ' ผู้เชี่ยวชาญระบุปี 66 เจอสถานการณ์รุนแรงเลย นับจากนี้อีก 5 ปี เผชิญแล้ง ฝนทิ้งช่วงกระทบน้ำต้นทุน

ตั้งแต่กลางปี 2566 เป็นต้นออสเตรเลีย และภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ห้วงเวลาของปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" อย่างเต็มรูปแบบ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์สภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงด้านอุณหภูมิของโลกมีการคาดการณ์ว่า "เอลนีโญ" จะเริ่มมีกระทบต่อสภาพอากาศ ปริมาณฝน อุณหภูมิ ตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป ต่อเนื่องไปจนถึง ปี 2570 ก่อนที่โลกจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ ลานีญา อีกครั้ง

 

 

ปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" สร้างความกังวลให้หลายประเทศ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าหากปรากฎการณ์นี้เคลื่อนไปฝั่งใดของโลกก็จะเกิดความแห้งแล้งมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่านับจากนี้ปี 3-5 ปีเป็นอย่างน้อยไทยเองก็กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ เหมือนกันประเทศอื่นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องโฟกัสมากขึ้นก็คือการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้มีเพียงพอตลอดที่ปรากฎการ "เอลนีโญ" จะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน

  • แนวโน้มสภาพอากาศมีโอกาสเกิด "เอลนีโญ" ช่วง 3-5 ปี

สภาพอากาศและแนวโน้มของปริมาณฝนจากนี้ไป ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าจากการใช้แบบจำลอง 7+1 คาดการณ์ว่ามีโอกาสจะเกิด "เอลนีโญ" ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยในช่วงปี 2023-2028 จะเกิดปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติทำให้เกิดความแห้งแล้ง ในปี 2025 จะค่อนข้างรุนแรงในภาคใต้ และในปี 2028 จะเกิดความแห้งแล้งในบริเวณกว้าง อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำอย่างเดียวไม่ได้บอกถึงความแห้งแล้ง จึงได้ศึกษาปริมาณน้ำฝนที่สัมพันธ์กับน้ำท่า รวมถึงหาความสัมพันธ์ของปริมาณน้ำท่ากับความชื้นในดิน 3 เดือนล่วงหน้าเพื่อการเตรียมตัวรับมือ

  • คาดการณ์ 2-3 ปีข้างหน้าเกิด "เอลนีโญ" ต่อเนื่องฝนน้อยแห้งแล้ง

ดร.กนกศรี ศรินนภากร หัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กล่าวว่า สสน.ใช้แบบจำลองเชิงตัวเลขในการคาดการณ์สภาพอากาศในระยะสั้น 7 วัน รายฤดูกาล และศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อวางแผนระยะยาวให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยพัฒนาเทคนิคใช้ machine learning ประยุกต์ใช้กับการคาดการณ์ระยะยาว 5 ปี เช่นเดียวกับการคาดการณ์ฤดูกาล ทั้งนี้ผลกระทบจากเอนโซ่ (เอลนีโญและลานิญา) จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ปัจจัยทางทะเล ลมมรสุม มหาสมุทรทั้งสองฝั่งทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยมีแนวโน้มว่าสภาพอากาศรุนแรงจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยคาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเกิดเอลนีโญต่อเนื่อง ทำให้ฝนน้อยและเกิดความแห้งแล้ง ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ภาพประกอบบทความเท่านั้น

 

  • "เอลนีโญ" มีผลกระทบต่อการกักเก็บน้ำในอ่าง เสี่ยงกระทบปลูกข้าวนาปรัง

ด้านสภาพน้ำท่าและแนวโน้มว่าจากการประเมินปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี2566/67 ผศ. ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ และ ผศ. ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดว่า  ภาพรวมน้ำต้นทุนจะมีปริมาณน้ำไหลเขาอ่างเก็บน้ำรวมเท่ากับ 11,202 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกัน 10,889 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและปริมาณที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากแบบจำลองร่วมกับข้อมูลฝนพยากรณ์ล่วงหน้า 6 เดือน พบว่าเขื่อนภูมิพลมีแนวโน้มประมาณ 7,987 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าค่าเฉลี่ย 23 ปี คิดเป็นร้อยละ 44 แต่เขื่อนสิริกิติ์มีแนวโน้มประมาณ 3,216 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 46 และพยากรณ์น้ำท่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติน้อยกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปี คิดเป็นร้อยละ 28

 

 

ส่วนการประเมินผลกระทบระยะยาวของปรากฏการณ์เอลนีโญโดยใช้ปีตัวแทนในการประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ พบว่าเอลนีโญอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่องในระยะยาวได้ ผลจากแบบจำลองเป็นที่ชัดเจนว่าน้ำท่าตามธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังมีความผันแปร โดยรวมแล้วในปีนี้ยังไหวมีน้ำเพียงพอสำหรับฤดูแล้งปีหน้า แต่ก็กังวลในระยะยาวว่าผลของเอลนีโญจะรุนแรงเพียงใด หากรุนแรงมากจะทำให้น้ำที่เติมสู่แหล่งน้ำน้อยลง กระทบต่อการปลูกข้าวนาปรัง จึงต้องติดตามทิศทางความรุนแรงของเอลนีโญว่าจะเข้มข้นขึ้นหรือลดลง

 

 

สอดคล้องกับ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีฝนน้อย การใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำในขณะนี้เทียบเท่ากับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปีนี้ฝนทิ้งช่วงจะตกในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ดังนั้นต้องกำหนดแนวทางการจัดการน้ำในสภาพ "เอลนีโญ" ว่า โดยเก็บกักน้ำเต็มประสิทธิภาพในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝนให้มากที่สุด คาดจะมีน้ำใช้การ 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องวางแผนบริหารจัดการคุณภาพน้ำ น้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน สิ่งที่แปรผันคือน้ำภาคการเกษตร

 

 

โดยวางแผนพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รณรงค์ปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือการพักนา โดยมี 6 แนวทางในการรับมือช่วงฤดูแล้ง คือ บริหารน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและเพียงพอกับความต้องการ จัดหาแหล่งน้ำสำรองกรณีเสี่ยงภัยแล้ง ตรวจสอบความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมตามลำดับความสำคัญ จัดสรรตามกิจกรรมหลัก สำรองน้ำเก็บกักไว้ต้นฤดูฝนกรณีฝนทิ้งช่วง และประเมินผลและประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

 

 

  • แนวทางรับมือวิกฤตผลกระทบจาก "เอลนีโญ"

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เผยว่า ประเทศไทยจะพบกับวัฏจักรน้ำท่วมน้ำแล้งไปตลอด จึงต้องใช้การจัดการความเสี่ยงเชิงระบบและระยะยาวมากขึ้น ใช้ข้อมูลข่าวสารที่พยากรณ์ให้เป็นประโยชน์ ปรับการช่วยเหลือเชิงเดี่ยวเป็นการช่วยปรับตัว ยกระดับแบบเฉพาะเจาะจงและยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและอาชีพกับประชาชนระดับรากหญ้า นอกจากนี้ควรมีมาตรการเพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชนเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง โดยพัฒนาทีมงานในระดับพื้นที่ร่วมกับองค์การปกครองท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากจังหวัดและหน่วยงานเทคนิค ทั้งนี้การจัดการภัยแล้งแบบบูรณาการ ต้องติดตาม พยากรณ์ และแจ้งเตือน ประเมินความเปราะบางและผลกระทบ มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบ และการจัดการเชิงรุกตามความเสี่ยงของพื้นที่

 

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งมีคณะวิจัยและผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและภูมิอากาศ ร่วมนำเสนอการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แนวโน้มของสภาพน้ำท่า และทางออกของการจัดการปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อรองรับและปรับมือกับความท้าทายใหม่ของประเทศ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมในการตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและเตรียมความพร้อมรับมีปรากฎการณ์ เอลนีโญ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2566 นี้ พร้อมกับวางแผนยริหารจัดการน้ำท่า ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากนี้ไปอีก 3-5 ปี