เร่งแก้ 'ลิงเพชรบุรี' ล้นเมือง อาจย้ายไปอยู่เกาะ
"ลิงเพชรบุรี" ล้นเมือง สร้างความเดือนร้อนให้ประชาชน ทส.เห็นด้วยหากจะย้ายไปไว้เกาะเพราะเคยทำสำเร็จมาแล้ว ฝากทางจังหวัดประสานหาเกาะ กังวล "ถอดลิงออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง" ยิ่งสร้างความรุนแรง
"นายยุทธพล อังกินันทน์" ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ที่ปรึกษา รมว.ทส.) บอกถึงปัญหา "ลิงเพชรบุรี" "นายวราวุธ ศิลปอาชา" รมว.ทส. ได้มอบหมายให้ประสานกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงพื้นศึกษาโครงการที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา "ลิงเพชรบุรี" รบกวนชุมชนแบบเร่งด่วน โดยการสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะให้ลิงได้อยู่อาศัย เช่น เกาะต่างๆ ในจังหวัดใกล้เคียง
นักวิชาการกรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันสำรวจและให้ความเห็นเบื้องต้นว่า มีความเป็นไปได้ในการย้ายลิงไปยังเกาะเพื่อรองรับประชากรลิงที่มีจำนวนมากและเป็นปัญหาใน จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์
โดยกรมอุทยานฯ ได้ลองดำเนินการในพื้นที่นำร่องเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่เกาะปายู จ.ภูเก็ต พบว่า ประสบผลสำเร็จแล้ว การนำลิงไปอยู่ที่เกาะ ลิงสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข สุขภาพดี เพราะลิงแสมมีชีววิทยาที่สามารถอยู่อาศัย หาอาหารได้ในป่าชายเลน ได้เป็นอย่างดี ไม่รบกวนคนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเป็นตัวปกป้องพื้นที่อนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วน ลดผลกระทบกับชุมชนได้
ส่วนการเสนอให้มีการถอดลิงออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ไม่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของลิงและการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย และอาจเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับลิงรุนแรงขึ้นอีกด้วย
ทางด้าน "นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน" หรือ "หมอล็อต" สัตวแพทย์ บอกว่า จ.เพชรบุรี ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาลิงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ที่มีทางเลือกมากกว่าพื้นที่อื่น คือ การสำรวจเกาะที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของลิง ตามนโยบายของท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ "ดร.ยุทธพล" ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการจัดหาที่อยู่ของลิง โดยได้มีการพาแกนนำผู้เดือดร้อนในจังหวัดไปดูโครงการแก้ไขปัญหาที่ จ.ภูเก็ตมาแล้ว
"หากผลการสำรวจเกาะต่างๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำลิงไปดำรงชีวิตแล้วเสร็จ จะมีการหารือและทำประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด" "นสพ.ภัทรพล" ระบุ
ดังนั้น หาก จ.เพชรบุรี ประสานกับจังหวัดต่างๆ ว่าเกาะใด มีคุณสมบัติที่เหมาะสมแก่การส่งนักวิชาการของ ทส. เข้าศึกษาความเป็นไปได้ ให้ความร่วมมือในการสำรวจ ก็จะยิ่งทำให้การดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหา "ลิงเพชรบุรี" สำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น