'ผู้พิทักษ์ป่า' 1 ใน 5 อาชีพทำงานหนัก แบกภาระกิจใหญ่กว่าผืนป่าของประเทศไทย
'ผู้พิทักษ์ป่า' อีกหนึ่งอาชีพที่ทำงานหนัก เสี่ยงภัย อันตราย ทำภาระกิจที่ใหญ่กว่าผืนป่าทั้งหมดในประเทศไทย ที่ผ่านมาเดินสำรวจป่าไปแล้ว 3 ล้านกิโลเมตร
ป่าจำนวนกว่า 102,212,434.37 ไร่ หรือราวๆ 31.59 ของพื้นที่ประเทศไทย เคยสงสัยหรือไม่ว่าป่าจำนวนมากมายขนาดนี้ ใครเป็นคนดูแล พิทักษ์และคอยปกป้องต้นไม้ สัตว์ป่า จากภัยธรรมชาติ และภัยจากมนุษย์ ภาระที่ยิ่งและสำคัญกับประเทศเช่นนี้ หากไม่มี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ผู้ที่ทำหน้าที่คอยปกปักรักษาป่าไม้เอาไว้ ประเทศไทยอาจจะไม่เหลือป่าไม้จำนวนมากเหมือนเช่นทุกวันนี้
เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) 31 กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้คนไทยทุกคนเห็นถึงความสำคัญของอีกหนึ่งอาชีพที่ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ กลางป่ากว้าง และต้องทำหน้าที่มากกว่าการพิทักษ์ป่าเพื่อให้คนไทยได้มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ พวกเขาเหล่านั้นต้องฝ่าฟันอันตรายอะไรบ้าง แน่นอนว่าหน้าที่ของ "ผู้พิทักษ์ป่า" ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ป่าไม้ในเมืองไทยแน่นอน
- เดินเท้าสำรวจป่า ปกป้องภัยจากธรรชาติและมนุษย์
หากพูดถึงการสำรวจป่าจำนวนล้านๆ ไร่แน่นอนว่า "ผู้พิทักษ์ป่า" ต้องใช้การเดินเท้าเข้าไปในป่าลึกทั้งนั้น และการดูแลป่าไม่ใช่แต่การเดินไปรดน้ำต้น หรือให้อาหารสัตว์แน่ๆ โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก ถึงภาระกิจของ "ผู้พิทักษ์ป่า" ว่า หน้าที่ของผู้พิทักษ์นับว่าเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กับอาชีพอื่นๆ ปัจจุบันเรามีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าราวๆ 30,000 กว่าคน แบ่งเป็นของกรมอุทยานฯประมาณ 15,000 คน กรมป่าไม้ 5,000 คน และ กรมทะเลและชายฝั่ง 500 คน และอาสาพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นประชาชน ชุมชนที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ มาแนวร่วมอีก
ต้องบอกว่าการทำหน้าที่ดูแล ลาดตระเวนนั้น "ผู้พิทักษ์ป่า" ทุกคน ทำมากกว่าการเดินเท่านั้น เพราะปัจจุบันเจ้าหน้าที่จะต้องลาดตระเวน เก็บข้อมูล เพื่อนำเอาข้อมูลในป่าออกมาเผยแพร่ให้ได้มากที่สุดว่าปัจจุบันป่าไม้ในเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง โดยในปี 2565 เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าเดินลาดตระเวนมาแล้วว่า 70% ของพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด หรือเดินมาแล้วกว่า 3 ล้านกิโลเมตร นับว่าเป็นการเดินทางที่แสนยาวนาน และไม่มีวันสิ้นสุด แม้ว่าจะเดินลาดตระเวนทั่วป่าแล้ว ในปีต่อๆ ไป "ผู้พิทักษ์ป่า" ก็จะต้องกลับมาเดินลาดตระเวนเก็บข้อมูลอีกครั้งแบบไม่สิ้นสุด เพราะธรรมชาติของป่าไม้ ต้นไม้ สัตว์ป่า เกิดการเปลียนแปลงอยู่ตลอดเวลา
- ภาระกิจใหญ่ต้องอาศัยความชำนาญ เพราะในป่ามีมากกว่าต้นไม้ และสัตว์ป่า
ความยากของอาชีพ "ผู้พิทักษ์ป่า" ไม่ได้มีแค่ขนาดพื้นป่าที่กว้างใหญ่เท่านั้น และแม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีนำทางแต่การสำรวจ ลาดตระเวน ก็ต้องใช้คนที่มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญเส้นทาง และรู้จักป่าเป็นอย่างดี
นายอรรถพล อธิบายถึงหน้าที่และความโดดเด่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ "ผู้พิทักษ์ป่า" ต่อว่า หากเทียบจำนววนผู้พิทักษ์ป่า กับพื้นที่ป่าที่ประเทศไทยมีอยู่ ณ ขณะนี้ไม่มีสัดส่วนที่เหมาะสม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ "ผู้พิทักษ์ป่า" เป็นหน้าที่ที่ต้องการคนที่มีความชำนาญ มีประสบการณ์ รู้จักป่าเป็นอย่างดี เพราะเมื่อเข้าไปในป่าแล้วเจ้าหน้าที่จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพราณป่า ชาวบ้าน ที่เข้ามาหาของป่า ดังนั้นหากเจอในลักษณะนี้จะต้องมีการพูดคุยเจรจากัน ยังไม่นับรวมผู้ที่เข้ามาและผิดกฎหมาย เช่น การลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ป่า ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ "ผู้พิทักษ์ป่า" จะต้องเผชิญหน้าอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเกิดการปะทะ จนนำให้เราสูญเสียเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถไปก็มี ยังไม่รวมถึงการเกิดโรคระหว่างหารปฏิบัติหน้าที่ด้วย ด้วยภาระกิจหน้าที่ที่เยอะ และสำคัญแบบต่อประเทศเช่นนี้ เราจึงปฏิเสธไม่ได่เลยว่า "ผู้พิทักษ์ป่า" คือขุมกำลังที่สำคัญอีกหนึ่งประการของประเทศไทย
- ผลักดันสวัสดิการเงินเดือน ให้สมกับหน้าที่อันยิ่งใหญ่
รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ เล่าถึง แนวทางที่จะยกระดับ และส่งเสริม "ผู้พิทักษ์ป่า" ว่า อาชีพผู้พิทักษ์ป่า ถือว่าเป็น 1 ใน 5 อาชีพ ที่ทำงานหนัก และแบกภาระหน้าที่อันสำคัญอย่างมาก ที่ผ่านมา "ผู้พิทักษ์ป่า" ได้รับค่าตอบแทนที่ที่สวนทางกับหน้าที่ ภาระกิจ ที่ต้องดำเนินการ เงินเดือนที่ไม่เคยได้ปรับขึ้นมานานว่า 11 ปี ตำแหน่งหน้าที่ที่เป็นได้แค่เพียงพนักงานจ้างเหมาเท่านั้น แต่ขณะนี้กรมฯ ได้ผลักดันให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้ปรับขึ้นเงินเดือนเป็น 11,000 บาท จาก 9,000 บาท ซึ่งได้ผ่านด่านแรกของกรมบัญชีกลางมาแล้ว และจะมีผลบังคับประมาณ ต.ค. 2566 แต่หากเทียบกับภาระหน้าที่ก็ยังนับว่าเป็นค่าตอบแทนที่น้อยอยู ดังนั้นการปรับเงินเดือนควรจะปรับแบบอัตราก้าวหน้าหรือปรับทุกๆ 5 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ตนยังมีแนวคิดที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ "ผู้พิทักษ์ป่า" ให้มีโอกาสเลื่อนขั้นจากพนักงานจ้างเหมา เป็นพนักงานข้าราชการ และขยับเป็นข้าราชการ เพื่อรักษาเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถ ให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีกำลังใจในการทำงาน ที่มีความเสี่ยง และต้องเจอภัยคุกคามตลอดเวลา
รวมไปถึงการเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ การช่วยเหลือเยียวยาครอบครัว ที่จะต้องปรับให้เหมาะสมมากขึ้น รวมไปถึงการดูแลให้ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานผู้พิทักษ์ป่า ผ่านกองทุนสวัสดิการ และ มูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ ผู้พิทักษ์ป่า และครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ผู้พิทักษ์ป่า ถือว่าเป็นปราการสำคัญในการปกป้องป่าให้คงอยู่ตลอดไป รวมไปถึงการพัฒนาพื้นป่าที่ไม่กระทบต่อประชาชน นับจากนี้ภาระกิจของผู้พิทักษ์ป่าจะยิ่งยากมากขึ้น เพราะโลกเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ผมอยากให้กำลังใจเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน ขอให้มีความตั้งใจที่จะปกป้องผืนป่า ดูแลระบบนิเวศน์ให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ตลอดไป ส่งต่อความสมบูรณ์ให้คนไทยรุ่นหลัง และทำงานอย่างมีความภาคภูมิใจในหน้าที ขอบคุณที่เสียสละทำงานอย่างเต็มกำลังในทุกๆ วัน” นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย