ชีวิตดีสังคมดี

ทำไม 'แม่น้ำโขง' ขึ้นพุ่งรวด 11 เมตร สูงสุดรอบ 3 ปี

ทำไม 'แม่น้ำโขง' ขึ้นพุ่งรวด 11 เมตร สูงสุดรอบ 3 ปี

11 ส.ค. 2566

"สถานการณ์แม่น้ำโขง" มุกดาหาร นครพนม อุบลราชธานี ยังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง ฝนยังตกหนักต่อเนื่อง น้ำสูงขึ้นรวดถึง 11 เมตร และแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เหลือไม่ถึงเมตรก็ล้นตลิ่ง รายงานว่า น้ำขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี เกิดอะไรขึ้นกับลุ่มแม่น้ำโขง ติดตามจากรายงาน

  • โขงช่วงนครพนมขึ้นรวดเกือบ 10 เมตร

 

"สถานการณ์แม่น้ำโขง" 7 ส.ค. 2566 รายงานว่า ระดับน้ำโขงในพื้นที่ จ.นครพนม สูงต่อเนื่อง แม้ปริมาณน้ำฝนจะเบาบางลง หลังจากเผชิญกับฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 2566 ทำให้แม่น้ำโขงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

 

 

สถานการณ์แม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566

 

 

 

ตัวเลขที่วัดได้ คือ อยู่ที่ 9.32 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 12 เซนติเมตร ห่างจากจุดวิกฤตล้นตลิ่งแค่ 2 เมตรเศษ คือที่ 12 เมตร ส่งผลกระทบลำน้ำสาขาสายหลัก มีลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม และลำน้ำสงคราม เริ่มไหลระบายลงน้ำโขงช้า หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่นาข้าว เกษตรกรชาวนาเสียหาย

  • ทางการออกประกาศเตือน 10-15 ส.ค. 2566 เสี่ยงอุทกภัย

 

8 ส.ค. 2566 ทั้งกรมชลประทาน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเตือนประชาชนให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เตรียมความพร้อมรับมือ "สถานการณ์แม่น้ำโขง" เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงระหว่างวันที่ 10-15 ส.ค. 2566

 

 

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติออกประกาศเฝ้าระวังสถานการณ์แม่น้ำโขง

 

 

 

ประกาศฉบับนี้ สืบเนื่องจากปริมาณฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประกอบกับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

  • น้ำสูงขึ้นต่อเนื่องจ่อวิกฤต

 

9 ส.ค. 2566 "สถานการณ์แม่น้ำโขง" ไม่มีทีท่าลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 8 จังหวัดริมโขง ขณะที่ฝนก็ตกต่อเนื่อง แต่ตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก พื้นที่ บ.ดอนตัน และ บ.สบหนอง ต.ศรีภูมิ อ.ท่าวังผา จ.น่าน น้ำได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สิ่งของได้รับความเสียหาย กอนช.เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า น้ำยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง 

 

 

 

น้ำเอ่อเข้าท่วมชาวท่าวังผา จ.น่าน เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566

 

 

 

  • เอ่อล้นเข้าบ้านประชาชน

 

10 ส.ค. 2566 "สถานการณ์แม่น้ำโขง" ยังไม่พ้นวิกฤต ระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง บางจุดเหลือไม่ถึง 2 เมตรจะเอ่อล้นตลิ่ง ลุ้นชั่วโมงต่อชั่วโมง กอนช.ยังเข้มประกาศประชาชน 8 จังหวัดริมโขงเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็มีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนแล้ว 

 

 

 

  • อีกไม่ถึงเมตรล้นตลิ่ง

 

11 ส.ค. 2566 ปริมาณน้ำยังสูงขึ้นต่อเนื่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.มุกดาหาร นครพนม และ จ.อุบลราชธานี จ่อล้นตลิ่ง ที่สถานีนครพนม จ.นครพนม ระดับน้ำ 11.11 ม. (ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.89 ม.) เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.24 ม. จากเมื่อวาน ส่วนจังหวัดที่เหลือเริ่มลดระดับลงแล้ว 

 

 

 

สถานการณ์แม่น้ำโขงวันที่ 11 ส.ค. 2566

 

 

 

  • ประสานจีน-ลาวช่วยควบคุมปล่อยน้ำจากเขื่อน

 

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้ประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) ให้ติดตามสถานการณ์น้ำโขงอย่างใกล้ชิด และแจ้งให้ประเทศสมาชิกรับทราบต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการป้องกันและรับมือหากเกิดสถานการณ์อุทกภัย รวมถึงขอความร่วมมือ MRCS ประสานกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ให้ช่วยบริหารน้ำจากเขื่อนต่างๆ ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัยจากสาเหตุระดับน้ำโขงสูงจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

 

สถานการณ์แม่น้ำโขง วันที่ 11 ส.ค. 2566

 

 

 

  • จีนลดปล่อยน้ำจากเขื่อน

 

สทนช.ได้รับข้อมูลจาก MRCS ว่า จีนได้ลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนของจีนตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2566 ส่วน สปป.ลาว ไม่มีแผนการปล่อยน้ำจากเขื่อน แต่ด้วยปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อเนื่องในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ และที่ไทยก็ฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำฝนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

 

 

  • เฝ้าระวังใกล้ชิด 24 ชม.

 

ทางการติดตามสถานการณ์น้ำโขงอย่างใกล้ชิด เพื่อประสานแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนจังหวัดริมน้ำโขงที่อาจะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

 

 

 

ทางการเฝ้าระวังสถานการณ์แม่น้ำโขงตลอด 24 ชั่วโมง