ชีวิตดีสังคมดี

แม่น้ำโขงกัดเซาะตลิ่งพัง ระดับน้ำเริ่มคลายตัว แม่น้ำเจ้าพระยาน่าห่วง

แม่น้ำโขงกัดเซาะตลิ่งพัง ระดับน้ำเริ่มคลายตัว แม่น้ำเจ้าพระยาน่าห่วง

15 ส.ค. 2566

สถานการณ์แม่น้ำโขงทรงตัว แต่น้ำกัดเซาะตลิ่งพัง ฝนยังตกหนัก เฝ้าระวังถึง 18 ส.ค.นี้ ขณะที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเสี่ยงวิกฤตแล้งหนัก

"กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ" (กอนช.) รายงาน  "สถานการณ์น้ำ" ว่า ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ยังเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากช่วงระหว่างวันที่ 12-18 ส.ค. 66 ในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ตาก และ จ.น่าน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และ จ.สกลนคร

 

 

 

ลุ่มแม่น้ำโมงบริเวณ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566

 

 

 

ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และ จ.ตราด ส่วนภาคใต้ที่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล และ จ.ตรัง 

ขณะที่ "สถานการณ์น้ำ" ในพื้นที่ บ.ม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เจ้าหน้าที่ อบต.ในพื้นที่รายงานว่า น้ำกัดเซาะตลิ่ง ทำให้ตลิ่งพังกินพื้นที่เกษตร ชาวบ้านเป็นกังวลว่า หากปล่อยทิ้งอาจกัดเซาะเข้าถึงบ้านเรือน จึงร้องขอให้ทางการเข้าช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วน 

 

 

 

แม่น้ำโขงบริเวณ บ.ม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

ล่าสุด "กรมเจ้าท่า" ได้เข้าสำรวจความเสียหาย เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาต่อไป ชาวบ้านให้ความคาดหวังว่าจะได้รับการแก้ไขโดยเร็ววัน  

 

 

 

เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าเข้าสำรวจความเสียหาย

 

 

 

กอนช.รายงานอีกว่า จากการเฝ้าระวังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทั่วประเทศ ที่มีน้ำท่วมขัง น้ำหลาก ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมในทะเล ช่วงวันที่ 11-16 ส.ค. 2566 พบว่า ในพื้นที่อำเภอต่างๆ จ.พังงา เกิดดินสไลด์กีดขวางเส้นทางจราจร ถนนสายเมืองพังงา-กะปง พื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งคาโงก อ.เมืองพังงา จึงได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่รวมถึงแขวงทางหลวงพังงาให้เข้าดำเนินการปรับปรุงเส้นทางจราจรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

 

 

สำหรับ "สถานการณ์น้ำ" ลุ่มแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำเกินระดับปกติ ฝนยังตกต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยายังเผชิญปรากฎการณ์เอลนีโญ มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ น้ำในเขื่อนต่างๆ ลดลง กระทบต่อปริมาณน้ำในภาพรวมโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 

 

 

 

ปริมาณฝนสะสมมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประกอบกับปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นจะส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้ 4 เขื่อนหลัก จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก เพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

 

 

 

กอนช. รายงานอีกว่า กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยกำหนดแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2566 จนถึง 31 ต.ค. 2566 จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปี 8.05 ล้านไร่  

 

 

 

ข้อมูลวันที่ 4 ส.ค. 2566  "สถานการณ์น้ำ" ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันทั้งสิ้น 2,974 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก มีการจัดสรรน้ำไปแล้วรวม 4,525 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่เพาะปลูกไปแล้วประมาณ 7.15 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.30 ล้านไร่

 

 

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จึงขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด