ส่อง 'ถุงขยะฟุกุโอกะ' ต่างกับไทยสุดขีด ชัชชาติ เก็บไอเดียมาพัฒนากรุงเทพฯ
ชัชชาติ พาส่อง 'ถุงขยะฟุกุโอกะ' 3 แบบต่างจาไทยสุดขีด พร้อมศึกษาวิธีแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจากประเทศญี่ปุ่น เก็บรายละเอียดริมถนนกลับมาพัฒนา 50 เขตในกรุงเทพฯ
ภายหลังการวิ่งเรียกเหงื่อเพื่อสุขภาพของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมสหายชาวอาทิตย์อุทัยในรุ่งสางวันนี้ ณ สวนสาธารณะริมทะเลโมโมชิ (Momochi Seaside Park) จังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างเดินทางกลับที่พัก นาย ชัชชาติ จึงถือโอกาสพาช้อป "ถุงขยะฟุกุโอกะ" และสำรวจสิ่งละอันพันละน้อยของเมือง ในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคิดทุกอย่างลงลึกถึงระดับมิลลิเมตร เพื่อใช้เป็นไอเดียสำหรับจังหวัดที่มี 50 เขต คือ กรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตามแต่ละเมืองแต่ละจังหวัดของญี่ปุ่นนั้น มีนโยบายในการจัดการขยะที่แตกต่างกันสำหรับเมืองฟุกูโอกะ มีถุงขยะที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ มีด้วยกัน 3 แบบ ตามแนวทางการแยกขยะของฟูกูโอกะ
แบบที่ 1 สำหรับใส่ขยะที่วัสดุเป็นแก้วซึ่งนำไปรีไซเคิลได้ ขนาดกลาง 1 แพ็ค มี 10 ถุง 1 ถุงจุได้ 30 ลิตร ราคา 150 เยน (ประมาณ 36 บาท)
แบบที่ 2 สำหรับใส่ขยะที่เผาได้ ขนาดเล็ก 1 แพ็ค มี 10 ถุง ราคา 150 เยนเช่นกัน แต่ 1 ถุงจุได้ 15 ลิตร ซึ่งนายชัชชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ราคา จำนวน และความจุเท่ากัน แต่ขนาดเล็กกว่าแบบที่ 1 อาจจะเป็นเพราะต้องการให้คนใช้ของที่รีไซเคิลได้มากกว่า
แบบที่ 3 สำหรับใส่ขยะที่เผาไม่ได้ ขนาดกลาง 1 แพ็ค มี 10 ถุง 1 ถุงจุได้ 30 ลิตร ราคา 300 เยน
โดยการเก็บขยะของเมืองฟุกูโอกะ เทศบาลจะจัดเก็บประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่สำหรับร้านอาหาร หรือกิจการที่มีปริมาณขยะมากกว่าประชาชนทั่วไป จะมีรูปแบบที่แตกต่างและความถี่ที่มากกว่า และในส่วนของ "ถุงขยะฟุกุโอกะ" บางประเภทนั้นเมืองจะเป็นผู้ทำจำหน่าย รายได้จากการขายจะนำมาใช้บริหารจัดการเรื่องการจัดการขยะ อาทิ การจ้างบริษัทเอกชนจัดเก็บขยะ โดยการจัดการขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ จะกำจัดด้วยการเผาเป็นหลัก
จากนั้น นายชัชชาติ ได้เดินส่องจิปาถะของเมืองต่อ เพื่อสำรวจตรวจดูว่างานเมืองของญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากบ้านเราอย่างไร ซึ่งพบหลายอย่างที่น่าสนใจ อาทิ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนทางเท้าที่โบกปูนทึบตรงโคนต้น ดูพื้นที่ยะไต คือ พื้นที่ขายอาหารริมทาง พูดง่าย ๆ ว่าเหมือนสตรีทฟู้ดของบ้านเรา เพราะฟุกุโอกะนั้นขึ้นชื่อเรื่องยะไต ให้นึกภาพออกง่าย ๆ คือร้านรถเข็นราเมนที่มีบาร์เล็ก ๆ ให้ลูกค้านั่งเรียงชิดติดกันซู้ดราเมนร้อน ๆ ในอากาศหนาว ๆ ซึ่งแนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่อาจนำไปปรับใช้กับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยใน กทม. ได้เช่นกัน
ปิดท้ายด้วยสิ่งเล็ก ๆ ที่น่ารัก เมื่อนายชัชชาติ เจอกระถางดอกไม้ที่มีไม้ดอกบานสะพรั่งบนทางเท้า มีโลโกเขียนว่า Flower City Fukuoka จึงถามเพื่อนชาวญี่ปุ่น ได้ความว่า เมืองฟุกุโอกะมีแคมเปญชื่อว่า 1 คน 1 ดอกไม้ สื่อความหมายถึงการรณรงค์ให้คนปลูกต้นไม้คนละต้น ก็ตรงกับนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
สำหรับการไปเยือนฟุกุโอกะครั้งนี้ของนายชัชชาติ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 15 ปี ระหว่างกรุงเทพมหานคร และจังหวัดฟุกุโอกะ จึงถือโอกาสใช้เวลาว่างเว้นจากภารกิจ เก็บเกี่ยววิสัยทัศน์งานเมืองของประเทศญี่ปุ่นเพื่อเป็นความรู้เพิ่มเติมในการพัฒนากรุงเทพมหานครต่อไป