หมดยุคโลกร้อน สู่ยุค 'โลกเดือด' ร้อนเป็นประวัติการณ์ รับมืออย่างไรให้รอด
สิ้นสุดยุคโลกร้อน เข้าสู่ยุค "โลกเดือด" กระทบสุขภาพ คาดอีก 57 ปี คนแก่ตายเพราะอากาศร้อน 14,000 คน แนะวิธีปรับตัวอยู่กับความเป็นจริงลดผลกระทบสุขภาพ
"นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย" อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ออกมาชี้ว่า ยุคโลกร้อน (Global Warming) สิ้นสุดลงแล้ว และยุค "โลกเดือด" (Global Boiling) ได้เริ่มขึ้นแล้ว
จากการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง พบว่า ตั้งแต่ปี 2558 – 2565 มีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับภูมิภาคเอเชียพบอุณหภูมิเฉลี่ยในปี 2565 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลัง ทั้งยังพบว่า อุณหภูมิในมหาสมุทรฝั่งเอเชียมีอัตราร้อนขึ้นเกิน 0.5 องศาเซลเซียสต่อ 10 ปี ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 3 เท่า
จากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ป่า ภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลันเพิ่มขึ้น เป็นต้น และรุนแรงมากขึ้น ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศและภัยแล้ง การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากน้ำท่วม รวมถึงการเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด
นอกจากนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Metrological Organization: WMO) ยังให้ข้อมูลว่า เดือน ก.ค. เป็นเดือนที่ร้อนที่สุด และทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติมากที่สุดในโลก
"นพ.สุวรรณชัย" อธิบายต่อว่า สำหรับประเทศไทย พบว่า ในปี 2566 มีแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.5 องศาเซลเซียส โดยเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2566 ที่ จ.ตาก มีอุณหภูมิสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียส ถือว่าอยู่ในระดับอันตรายมาก (อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 43 องศาเซลเซียส) เมื่อเทียบกับค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน และคาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่องถึงเดือน เม.ย. 2567 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
นอกจากนี้ "องค์การอนามัยโลก" (WHO) ยังได้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากความร้อนในอัตรา 58 ต่อแสนประชากร หรือ 14,000 ราย ภายในปี 2623 หรือในอีก 57 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเตรียมรับมือและปรับตัวในยุค "โลกเดือด" ดังนี้ 1. ร่วมมือ ป้องกันไม่ให้สถานการณ์ภาวะโลกเดือดมากกว่าเดิม โดยช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ลดการใช้พลาสติก ลดการเผาที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ ลดการใช้พลังงาน ลดขยะในครัวเรือน เลือกใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
2. เตรียมปรับตัวต่อยุค "โลกเดือด" เช่น หมั่นติดตามสภาพอากาศ หากพบว่ามีสภาพอากาศร้อนขึ้น ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี แต่หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมภายนอกอาคาร ควรสวมเสื้อแขนยาว หมวกปีกกว้าง แว่นตา และทาครีมกันแดด ควรงดดื่มสุรา น้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น
สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงสูง ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด