ชีวิตดีสังคมดี

'พะยูน' เกยตื้นรอดได้ ถ้าช่วยถูกวิธี ทช.ฝึกชาวบ้านช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก

'พะยูน' เกยตื้นรอดได้ ถ้าช่วยถูกวิธี ทช.ฝึกชาวบ้านช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก

10 ก.ย. 2566

เห็น "พะยูน" เกยตื้นต้องช่วยลงทะเลถูกวิธีและให้เร็วสุดจึงจะรอด กรมทะเลชายฝั่ง (ทช.) เร่งลงพื้นที่อบรมชุมชนชายฝั่ง "เพิ่มพูน ประสบการณ์ ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก" เพิ่มอัตราการอยู่รอด ฟื้นฟูทะเลไทย

"นายอภิชัย เอกวนากุล" รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) บอกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ว่า ชาวบ้านเกาะมุกด์พบพะยูนเกยตื้นมีชีวิต ที่บริเวณท่าเรือเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เมื่อที่เจ้าหน้าที่ไปถึง ปรากฎว่า ชาวบ้านเกาะมุกด์ได้ช่วยขนย้ายพะยูนตัวดังกล่าวปล่อยกลับสู่ทะเลเรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (ตรัง) และศูนย์วิจัยฯ จัดประชุมชี้แจงอบรมเครือข่ายชุมชนชายฝั่งช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ประจำปี 2566 บริเวณศูนย์การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบ้านเกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรัง 

 

 

 

ชาวชุมชนเกาะมุกด์ เข้ารับการฝึกช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ประจำปี 2566 บริเวณศูนย์การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบ้านเกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรัง 

 

 

 

 

นายอภิชัย เอกวนากุล

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ เห็นว่าจากรูปแบบการช่วยเหลือในเบื้องต้นขอเรียนว่า เป็นวิธีการที่เหมาะสม ในกรณีการช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นมีชีวิตอย่างทันท่วงที เนื่องจากกรณีพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นมีชีวิตติดในบริเวณน้ำตื้นนั้นต้องทำการช่วยเหลือกลับสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยและลดความเครียดของสัตว์ โดยมีการเคลื่อนย้ายพะยูนจากพื้นที่น้ำตื้นลงไปสู่ที่น้ำลึกให้พะยูนว่ายออกไปได้อย่างปลอดภัย 

 

 

 

ชาวชุมชนเกาะมุกด์ เข้ารับการฝึกช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ประจำปี 2566 บริเวณศูนย์การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบ้านเกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรัง 

ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้ผ่านการอบรมจากกรม ทช. ได้มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นและสามารถหาได้พื้นที่ ณ ขณะนั้นในการขนย้ายพะยูน

 

 

 

ขั้นตอนการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก  

 

 

 

นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัยฯ ยังได้มีการประสานกับเครือข่ายในพื้นที่และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมในการเฝ้าระวังพะยูนตัวดังกล่าวกลับมาเกยตื้นซ้ำ และมอบอุปกรณ์ในการขนย้ายและปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับเครือข่ายในพื้นที่ 

 

 

 

กรณีหากพบการเกยตื้นซ้ำให้รีบแจ้งทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ ทันที เพื่อเข้าช่วยเหลือต่อไป และในขณะนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ได้จัดสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่พร้อมเรือขนาด 20 ฟุต ลงไปประจำพื้นที่ทำการเฝ้าระวังกรณีพะยูนตัวดังกล่าวกลับมาเกยตื้นซ้ำของพื้นที่เกาะมุกด์ และบริเวณใกล้เคียง

 

 

 

ภาพประกอบ

 

 

 

 

ทั้งนี้ ได้ประสานกับทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมในการลงพื้นที่ลาดตระเวนและพบปะกับชาวประมงบริเวณชายฝั่งให้ติดตามและร่วมสังเกตการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

       

 

 

"นายอภิชัย" บอกต่ออีกว่า "พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้แสดงความห่วงใยต่อสัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะพะยูน เนื่องจาก ทส. ได้มุ่งเน้นและผลักดันการเพิ่มจำนวนประชากรพะยูน ตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ จึงได้ให้ "นายจตุพร บุรุษพัฒน์" ปลัด ทส. สั่งการเจ้าหน้าที่กรม ทช. ให้เร่งดำเนินการลงพื้นที่จัดประชุมฝึกอบรมเครือข่ายชุมชนชายฝั่งช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก และดำเนินการประชาสัมพันธ์การช่วยสัตว์ทะเลเกยตื้น 

 

 

 

ภาพประกอบ

 

 

 

 

นอกจากนี้ "รมว.ทรัพยากร" ได้ฝากถึงชาวประมงช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นให้รีบแจ้งมายังกรม ทช. หรือแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 ทันที เพื่อเข้าช่วยเหลือสัตว์ทะเล หรือให้รีบทำการช่วยเหลือในเบื้องต้น อย่างถูกวิธีทางวิชาการ พร้อมนำอุปกรณ์หรือวัสดุมารองตัวของพะยูน และใช้วิธีตักน้ำราดรดตัวพะยูนตลอดเวลาเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นก่อนที่จะนำกลับสู่ทะเล 

 

 

 

พร้อมทั้งฝากเรื่องการประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ให้ระมัดระวังพะยูน และสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ จำพวกสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม แม้จะไม่ใช่เป้าหมายหลักของการทำประมง แต่สัตว์ทะเลกลุ่มนี้มีโอกาสติดมากับเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ ชาวประมงจะต้องช่วยกันดูแลอนุรักษ์ และให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุติดมากับเครื่องมือ หรือพบการเกยตื้นในพื้นที่

      

 

 

ที่ผ่านมา ทช. ได้จัดฝึกอบรมเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากมาตั้งแต่ปี 2558 โดยเป็นการจัดฝึกอบรมช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้นสำหรับเครือข่าย รุ่นละ 35 คนต่อปี ปีละ 5 รุ่น ซึ่งจัดอบรมให้แก่เครือข่ายชาวประมงอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ กรมประมงในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับแนวทางการจัดการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้น 

 

 

 

สำหรับในพื้นที่เกาะมุกด์ เป็นพื้นที่สำคัญของพะยูนและหญ้าทะเล จ.ตรัง ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ ได้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้และฝึกอบรมการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้นสำหรับเครือข่ายในพื้นที่เกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ทำให้เครือข่ายมีความรู้เบื้องต้นในการเข้าจัดการและช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นได้อย่างปลอดภัย 

 

 

 

อีกทั้ง ได้จัดทำคู่มือและแผ่นพับการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้น พร้อมแจกจ่ายในพื้นที่ชายฝั่งทะเลมาโดยตลอดเพื่อสร้างความเข้าใจในการช่วยเหลือการเกยตื้นหรือการได้รับบาดเจ็บของสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ให้ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที 

 

 

 

"นายอภิชัย" กล่าวทิ้งท้ายว่า "รมว.ทรัพยากร" ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดออกลาดตระเวนเฝ้าระวังประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในการช่วยเหลือพะยูนและสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับบาดเจ็บหรือเกยตื้น อย่างต่อเนื่อง 

 

 

 

 

ฝึกอบรมการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากที่ถูกวิธี

 

 

 

 

ดาวน์โหลดอินโฟกราฟฟิกการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ทะเลหายากเพื่อนำไปเป็นสื่อการสอนได้ที่ คลิก