ชีวิตดีสังคมดี

ทะเลชลบุรีวิกฤตเจอปัญหา 'ทะเลเขียว' กลายเป็นเขตมรณะ ทำสัตว์ตายเกลื่อน

ทะเลชลบุรีวิกฤตเจอปัญหา 'ทะเลเขียว' กลายเป็นเขตมรณะ ทำสัตว์ตายเกลื่อน

13 ก.ย. 2566

ทะเลชลบุรีวิกฤตเจอปัญหา 'ทะเลเขียว' ซ้ำๆ จนกลายเป็นเขตมรณะ เปิดต้นเหตุสัตว์ตายเกลื่อน ผู้เชี่ยวชาญระบุปัญหาลากยาวจนถึงปลายตุลาคม

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายถึงวิกฤตทะเลในจ.ชลบุรี ที่เริ่มเกิดภาวะแพลงก์ตอนบลูม "ทะเลเขียว" รวมไปถึงสัตว์น้ำที่เริ่มทยอยตายเกลื่อนหาดเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาว่า  จากข้อมูลของทีมสำรวจคณะประมงโดย ดร.ธนัสพงษ์ Tanuspong Pokavanich ที่เพิ่งสำรวจทะเลแถวศรีราชา บางแสนไปจากการสำรวจพบว่า ค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำจนแทบไม่น่าเชื่อ โดยปรกติค่าน่าจะอยู่ที่ 5-7 mg/L แต่ทุกสถานีที่เก็บมา ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 1 หมดอีกทั้งยังเป็นค่าที่ต่ำตลอดทั้งมวลน้ำ ไม่ว่าจะใกล้ผิวน้ำจนถึงพื้น พบค่าออกซิเจนต่ำทั้งสิ้น ตามเกณฑ์มาตรฐาน หากค่าออกซิเจน 0-2 mg/L จะไม่พอเพียงสำหรับสัตว์น้ำ แต่ถ้าต่ำกว่า 0.5 mg/L จะเกิดการตายครั้งใหญ่ ค่าออกซิเจนที่คณะประมงสำรวจ หลายจุดต่ำกว่า 0.5 โดยเฉพาะสถานีใกล้ชายฝั่ง นั่นอาจเป็นคำตอบของปลา และสัตว์น้ำพื้นทะเลตายเป็นจำนวนมาก  พบกุ้ง ปู และกั้งชนิดต่างๆ รวมถึงไส้เดือนทะเลที่ฝังตัวในพื้นก็ยังตาย

 

ขอบคุณภาพจากคณะประมง มก.

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุเพิ่มเติมว่า หากเป็นไปตามข้อมูลเบื้องต้น ปรากฎการณ์  "ทะเลเขียว" แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์แถวนั้นน่าเป็นห่วงสุดขีด เมื่อดูค่าคลอโรฟิลล์ จะเห็นว่าไม่สูงมาก  แต่อาจหมายถึงแพลงก์ตอนบลูมถึงเฟซสุดท้าย แพลงก์ตอนพืชตายเกือบหมดทำให้เกิดการย่อยสลาย ออกซิเจนจึงหมดไปอย่างรวดเร็วลองตรวจสอบหอยในพื้นที่ พบว่ามีบางส่วนตายแล้ว

 

 

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ยังบอกอีกว่า อย่างไรก็ตาม ค่า DO ต่ำมากในพื้นที่กว้างจนน่าตกใจ จึงอยากเสนอว่า หน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อให้ได้ผลที่แน่ชัด  นอกจากนี้ชาวประมงที่เพาะเลี้ยงหอยยชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน ลองดูสัตว์น้ำในช่วงนี้ว่าเป็นอย่างไร ยังรวมถึงคนที่ไปแถวหาดบางแสน บางพระ ศรีราชา ลองดูว่ายังมีสัตว์น้ำตายอยู่แถวนั้นบ้างหรือไม่ ที่ผ่านมาตนได้ประสานไปทางกรมควบคุมมลพิษ ขอให้ช่วยติดตาม หากข้อมูลเหล่านี้มีการคอนเฟิร์มยืนยัน คิดว่าเรากำลังเจอปัญหาหนักมากแม้จะเป็นชั่วคราว แต่แบบนี้เรียกได้ว่า Dead Zone เพราะมันไม่ใช่แค่บางจุดบางความลึก แต่เป็นทั้งหมดผลกระทบคงมหาศาล
 

  • Dead Zone หรือ เขตมรณะ คืออะไร  

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า Dead Zone หรือ "เขตแห่งความตาย" คือ การไหลลงของปริมาณสารอาหารจำนวนมากจากแผ่นดินลงสู่ท้องทะเลจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ Eutrophication ซึ่งในหลายเอกสารกล่าวอ้างถึง วันนี้เรามารู้จักกับอีกเหตุการณ์ที่เป็นผลต่อเนื่องของการไหลลงของสารอาหารจำนวนมากเช่นกัน ปรากฏการณ์นั้นเราเรียกว่า Dead Zone ในทางวิชาการ Dead Zone หมายถึง พื้นที่ที่มีปริมาณของออกซิเจนน้อยมากในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นเวลานาน (น้อยกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร) สิ่งที่ตามมาคือมีการตายของสิ่งมีชีวิตในน้ำ การอพยพของสัตว์น้ำ การประมงล้มเหลวเนื่องจากจับสัตว์น้ำไม่ได้ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในน้ำบริเวณนั้น  พื้นที่ Dead Zone ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในบริเวณชายฝั่งใกล้ปากแม่น้ำหรือพื้นที่ที่มีการปล่อยของเสียจากกิจกรรมของมนุษย์ในจำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่ทั่วโลกตอนนี้มีมากกว่า 400 แห่ง  ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งของทะเลบอลติก (Baltic Sea) ทางตอนเหนือของอ่าวแม็กซิโก และทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลดำ (Black sea) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 84,000 21,000 และ 40,000 ตารางกิโลเมตร 

 

 

  • ทะเลชลบุรีอ่วม เจอปรากฎการณ์ "ทะเลเขียว" ยาวจนถึงเดือนตุลาคม 

ผศ.ดร.ธรณ์  ได้อธิบายเพิ่มเติม ถึงปรากฎการณ์ แพลงก์ตอนบลูมในพื้นที่ทะเลของชลบุรีที่ปัจจุบันเกิดความถี่มากยิ่งขึ้น เอาไว้ดังนี้ จากเหตุการณ์ "ทะเลเขียว" ปลาตายครั้งใหญ่ที่บางแสน โดยใช้ผลสำรวจล่าสุดของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปลานานาชนิดตายจากแพลงก์ตอนบลูม เรื่องนี้คงเป็นที่ทราบกันแล้ว แพลงก์ตอนบลูมเกิดนอกชายฝั่ง มวลน้ำที่เต็มไปด้วยแพลงก์ตอนพืชเคลื่อนที่ไปตามคลื่นลม ลมฤดูนี้พัดเข้าฝั่งบางแสนศรีราชา แต่จะมีจังหวะลมแรง หรือลมนิ่งยังเกี่ยงข้องกับกระแสน้ำชายฝั่งที่ขึ้นกับน้ำขึ้น น้ำลง โดยพบว่าในช่วงที่ผ่านมาชายฝั่งวอนนภา บางแสน เกิดจุดน้ำสีเขียว ลิ้มน้ำถูกพักไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณหาดบางแสน-หาดวอนภา ที่มีลักษณะยื่นออกมาจากชายฝั่งจึงกลายเป็นเขตมวลรับน้ำสีเขียวจากทะเล  รวมถึงปลาที่ตายและลอยมาตามกระแสน้ำและคลื่นลมด้วย 

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าแพลงก์ตอนจะไม่เป็นพิษ แต่หากมีเยอะมากๆ จะทำให้แสงส่องลงไปในน้ำทะเลได้น้อยมาก ส่งผลให้แพลก์ตอนพืชน้ำในน้ำชั้นล่างจึงตายพร้อมกัน เกิดการย่อยสลายที่ต้องใช้อ็อกซิเจนทำให้ออกซิเจนในมวลน้ำชั้นกลาง หรือมวลน้ำที่ใกล้พื้นทะเลลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว เมื่อออกซิเจนในน้ำต่ำลง ก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ สำหรับปัจจัยการเกิดน้ำทะเลสีเขียวและการเคลื่อนตัวของคลื่นลม กระแสน้ำ น้ำขึ้นน้ำลง โดยหากลมเปลี่ยนทิศ หรือ กระแสน้ำชายฝั่งเปลี่ยนแปลง จุดที่เกิดปลาตายก็อาจจะเขยิบไป แต่ช่วงนี้ปรากฎการณ์ดังกล่าวก็ยังคงวนเวียนอยู่ในบิเวณบางแสน บางพระ ศรีราชา ทั้งนี้สถานการณ์ "ทะเลเขียว" จะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนต.ค. 2566  จากนั้นทะเลบางแสนน้ำจะใสขึ้นไปจนถึงหน้าในปีหน้า