วางแผนดูแลไฟป่า 'PM2.5' ปี 67 มุ่งเป้าพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่เกษตรกร 17 จว.
รัฐบาลกางแผนดูแลไฟป่า ฝุ่น PM2.5 เฝ้าระวังพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่เกษตรกรไหม้ซ้ำซาก 17 จว. พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น 7 วันล่วงหน้า พร้อมทั้งจัดให้มีการรายงานกรณีพิเศษ
น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและปัญหาฝุ่น "PM2.5" นั้น รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เตรียมการรับมือกับปัญหาฝุ่น "PM2.5" ในทุกมิติเป็นการเร่งด่วน โดยได้จัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน และการคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 ในทุกวัน ช่วงเวลา 08.30 น. ผ่านช่องทาง Facebook live ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมแนวทางการปฏิบัติตัว การรายงานสถานการณ์ประจำสัปดาห์ พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น 7 วันล่วงหน้า พร้อมทั้งจัดให้มีการรายงานกรณีพิเศษ เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ในกรณีสถานการณ์ PM2.5 เข้าขั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือมีเหตุการณ์ที่สำคัญ
โดยพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น "PM2.5" ปี 2567 แบบมุ่งเป้า โดยระบุพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำซาก สร้างกลไกขับเคลื่อนภาคเอกชนร่วมลงทุนในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง พื้นที่การเกษตร และหมอกควันข้ามแดน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาหมอกควันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
“สำหรับนโยบายเตรียมการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2567 ซึ่งจะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อควบคุมเชื่อมโยงนโยบายระดับชาติลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลหรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นได้ทั้งทาง Facebook live และสายด่วนกรมควบคุมมลพิษ 1650”