ชีวิตดีสังคมดี

เจาะต้นตอ 'PM2.5' รุนแรงเป็นภัยพิบัติ ปัจจัยรุมเร้าพัดฝุ่นพิษให้แรงขึ้น

เจาะต้นตอ 'PM2.5' รุนแรงเป็นภัยพิบัติ ปัจจัยรุมเร้าพัดฝุ่นพิษให้แรงขึ้น

27 พ.ย. 2566

เจาะต้นต่อ 'PM2.5'หน้าแล้งนี้รุนแรงจนยกระดับเป็นภัยพิบัติ ปลายปี 66 ถึงกลางปี 67 เปิดปัจจัยรุมเร้าพัดพาฝุ่นให้แรงขึ้น ทั้งหมอกควันข้ามแดน ปรากฎการณ์จุดระเบิดบนดวงอาทิตย์ในรอบ 11 ปี

วนเวียนกลับมาอีกครั้งสำหรับปัญหาฝุ่น "PM2.5" ในหน้าแล้งของบ้านเรา สัญญาณร้ายในปีนี้ที่บ่งบอกว่าฝุ่น "PM2.5" จะรุนแรงไม่แพ้ปีที่ผ่านๆมา คือ การที่หลายจังหวัดเริ่มมีค่าฝุ่นพิษเพิ่มสูงมากขึ้นแบบรวดเร็วทันทีหลังจากที่ฝนหยุดตก ดังนั้นปีนี้ปัญหา "PM2.5" จึงกลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานรัฐจะต้องเฝ้าดูแลให้สถานการณ์ทุเลาเบาบางลง 

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2566 นับครั้งไม่ถ้วนที่มีการรายการเมืองที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก เชียงใหม่ เชียงราย รวมไปถึงกรุงเทพมหมานคร โผลขึ้นไปติด TOP 10 อยู่หลายต่อหลายครั้ง โดยในที่ผ่านมาจังหวัดในแถบภาคเหนือเผชิญวันที่คุณภาพแย่ต่อเนื่อง 4-5 เดือน และกรุงเทพมหานครตลอดทั้งปีมีวันที่คุณภาพอากาศดีเพียง 49 วันเท่านั้น และในช่วงฤดูแล้งต่อจากนี้ ประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นปัญหา PM2.5 ที่กลายเป็นภัยพิบัติต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

จากอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก (27 พ.ย. 2566) ของเว็บไซต์ IQAir พบว่า เมืองลาฮอร์ ปากีสถาน เป็นเมืองที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุด รองลงมีคือ เมืองเดลี อินเดีย ส่วนประเทศในแถบอาเซียน ฮานอย เวียดนาม อยู่อันดับที่ 4  เสิ่นหยาง จีน อยู่อันดับ 6  เซี่ยงไฮ้ จีน อยู่อันดับ 10 ส่วนเชียงใหม่ ประเทศไทยในช่วงนี้อยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก ฝุ่นPM2.5 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในระดับปานกลาง แม้ว่าระยะนี้ประเทศไทยอาจจะยังไม่พุ่งติดอันดับ 1 ใน 10 แต่ต้องจับตาดูในระยะนี้ไปจนถึงกลางปี 2567 เพราะมีการคาดการณ์ว่าปัญหาฝุ่น "PM2.5" จะรุนแรงแบบไม่แผ่วแน่นอน 

นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจภาคเหนือ ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก เพื่อฉายภาพต้นตอ ปัญหาที่จะส่งผลกระทบความรุนแรงของฝุ่น "PM2.5" ในประเทศไทย  ว่า  ปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหาฝุ่น "PM2.5" ในหน้าแล้งนั้นจะต้องวิเคราะห์ให้กว้างและไกลมากขึ้นจากประเทศไทยประมาณ 500 กิโลเมตร นั้นหมายความเราจะต้องดูสถานการณ์ฝุ่นทั้งอาเซียน เพราะในเขตพรมแดน ลาว เมียนมา และกัมพูชา ฝุ่น ควัน สามารถพัดข้ามชายแดนมาถึงกันหมด โดยแน่นอนว่าแหล่งกำเนิดของฝุ่นควันหลักๆ มาจากการเผาในที่โล่ง  แหล่งไฟป่า การเผาในภาคเกษตรที่มีผลมากที่สุด ปัจจุบันแหล่งกำเนิดไฟไม่ได้ลดลง และการพัดพาฝุ่นควันข้ามแดนยังขึ้นอยู่กับทิศทางของลมอีกด้วย ดังนั้นปัญหา "PM2.5" ในประเทศไทยไม่มีทางลด และมีแต่จะเพิ่มขั้นเท่านั้น เพราะมีการก่อมลพิษที่เพิ่มมากขึ้น 

 

 

จากคำบอกเล่าของ นายบัณรส แสดงให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ว่า ปัญหา "PM2.5" ฝุ่นควัน เดินทางได้อย่างไร้ขอบเขต และเป็นปัจจัยหนุนให้สถานการณ์ ฝุ่น ควันในประเทศไทยแย่ลงด้วย และการที่จะห้ามไม่ให้ประเทศเพื่อนบ้านหยุดเผา ก็คงจะเกินอำนาจขอบเขตของรัฐบาลไทย เพราะแค่การคุมไม่ให้เผาในประเทศยังทำได้ยาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประเทศไทยทำได้คือการลดปัญหา และปัจจัยภายในประเทศที่มีผลต่อฝุ่นควัน และ PM2.5 เพื่อบรรเทาภาวะวิกฤต และทำให้เกิดฝุ่นในประเทศน้อยที่สุด ผ่านมาตรการต่างๆ เพราะการควบคุมฝุ่นควันข้ามแดนจะต้องรอแค่ให้ฝนตกลมาบรรเทาเท่านั้น เพราะมาตรการที่รัฐบาลไทยกำหนดไม่ควบคุมนอกประเทศไม่ได้ แต่ก็ยังถือว่ามีความชัดเจนกว่าปีที่ผ่านมาๆ 

 

 

นายบัณรส ได้แสดงความคิดเห็นถึงมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 เอาไว้ว่า ในปีนี้มาตรการและแนวทางการแก้ปัญหา ฝุ่นPM2.5 ฝุ่นควัน ของรัฐบาลมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเรากำลังจะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกกฎหมาย  มีการตั้งเป้าเชิงยุทธศาสต์ที่ชัดเจนโดยเฉพาะการลดจำนวนจุดความร้อน (HotSpot)อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากปีก่อนๆ โดยในปีนี้มีการกำหนดลดจุด HotSpot ในเขตไฟแปลงใหญ่ ในพื้นที่ป่าสงวน และป่าอนุรักษ์โดยจะต้องลดลงให้ได้ 50% ของพื้นที่ป่า รวมไปถึงการปรับยุทธวิธีแนวกันไฟจากแนวกั้นไฟแบบนิ่ง เป็นแบบเคลื่อนไหว ซึ่งมีการจ้างชาวบ้าน อาสาสมัครมาดูแลเพิ่มขึ้น แนวทางเหล่านี้ตนมองว่าเป็นความกระตือรือร้นของภาครัฐที่มีมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา 

 

 

ส่วนพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควัน และ "PM2.5" จากการเผาในที่โล่งมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเชียงใหม่ เชียงราย น่าน และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะโดยภูมิศาสตร์ของพื้นที่แล้ว มีทั้งภูเขาจำนวนมาก และมีความเฉพาะของที่พื้นที่ที่ทำให้เกิดสภาพอากาศปิด แต่ทั้งนี้สภาพดิน ฟ้า อากาศ ก็เป็นเรื่องที่คำนวณและคาดการณ์ได้ยาก เพราะมีความผิดเพี้ยนจากภาวะโลกร้อนอยู่ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาเราเห็นได้ชัดเจนจากการพยากรณ์อากาศในช่วงเดือนเม.ย. ที่คาดการณ์ว่าฝนจะตก แต่ฝนกลับไม่ตก ซึ่งการพยากรณ์เช่นนี้มีผลทำให้เกิดไฟแสนรู้ (ไฟที่เกิดจากคน) จำนวนมาก

 

 

 

อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่มีผลต่อสถานการณ์ฝุ่น "PM2.5" นั่นคือความแปรปรวณของสภาพอากาศ ความร้อนจัด แล้งจัด ล้วนเป็นแรงหนุนให้ปัญหา "PM2.5" ในประเทศไทยรุนแรงขึ้นทั้งสิ้น หนำซ้ำยังเกิดภาวะ เอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้ความแห้งแล้งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ อธิบายถึง สภาพอากาศที่เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะหนุนให้ "PM2.5" หนาแน่น และรุนแรง เอาไว้ว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศา ส่งผลทำให้ค่า ฝุ่นPM2.5 เพิ่มขึ้น 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)  เชื่อมโยงกับสภาพอากาศในอนาคตที่นับวันอุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งจะทำให้ภาวะ "PM2.5" สูงขึ้นตาม ประกอบกับในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2566 ต่อเนื่องปี 2567 ไทยเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ  และเกิดจุดระเบิดบนดวงอาทิตย์ในรอบ 11 ปี ทั้งสองปรากฎการณ์ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นแบบผิดปกติ ซึ่งปรากฎการณ์จุดระเบิดบนดวงอาทิตย์จะส่งผลต่อโลกไปยาวนานทำให้อากาศร้อนขึ้นตลอด 1 ปี  ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะเกิดภาวะร้อน แล้งที่รุนแรง ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

 

 

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

 

รศ.ดร.เสรี อธิบายต่อไปว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญทำอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.3 องศา ผนวกกับจุดระเบิดบนดวงอาทิตย์ที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 0.2 รวมกันเท่ากับว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นมากกว่า 0.5 องศา  เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นย่อมส่งผลให้เกิดจุดติดไฟมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าที่มีการผลัดใบจำนวนมากทั้งทางภาคเหนือ และภาคใต้ของประเทศ เมื่อเกิดจุดติดไปมากขึ้นก็จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเกิดขึ้นของ "PM2.5" ให้มากขึ้นด้วย 

 

 

ส่วนพื้นที่ในเมืองสภาพอากาศกลายเป็นตัวแปรรองลงมาจากการใช้ยานพาหนะ ดังนั้นหากจะควบคุมไม่ให้ฝุ่น "PM2.5" เกินค่ามาตรฐานจะต้องควบคุมที่ต้นตอหลัก เพราะแน่นอนว่าควันจากยานพาหนะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิในเมืองสูงขึ้นด้วย ส่วนสภาพทิศทางของลมแน่นอนว่ามีผลในการพักพาฝุ่นเช่นกันโดยในช่วงที่อากาศนิ่งก็จะยิ่งทำให้ฝุ่นเพิ่มมากขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.  แต่การพยากรณ์สภาพอากาศและทิศทางของลมสามารถพยากรณ์ได้ในระยสั่นเท่านั้นจึงจะมีความแม่นยำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อจะต้องเฝ้าระวังต่อไป 

 

เจาะต้นตอ \'PM2.5\' รุนแรงเป็นภัยพิบัติ ปัจจัยรุมเร้าพัดฝุ่นพิษให้แรงขึ้น

 

สำหรับต้นตอการเกิดฝุ่น "PM2.5" ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด และในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ข้อมูลจาก TDRI ระบุว่า การเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตรก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ประมาณ 209,937 ตัน  รองลงมาคือ อุตสาหกรรม 65,140 ตัน/ปี และการขนส่ง 50,200 ตัน/ปี และการผลิตไฟฟ้า 31,793 ตัน/ปี ส่วนแหล่งกำเนิดทางอ้อมของ PM2.5 ที่สำคัญที่สุด คือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและน้ำมัน 231,000 ตัน/ปี จากโรงงานอุตสาหกรรม 212,000 ตัน/ปี ส่วนต้นตอสำคัญของไนโตรเจนออกไซด์ คือ การขนส่ง 246,000 ตัน/ปี การผลิตไฟฟ้า 227,000 ตัน/ปี และโรงงานอุตสาหกรรม 222,000 ตันต่อปี ตามลำดับ  

 

 

ในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครฝุ่น PM2.5 มาจากไอเสียจากรถยนต์ และการจราจรที่ติดขัดมากที่สุด  โดยเฉพาะจากพาหนะเครื่องยนต์ดีเซลที่มีกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เพราะในประเทศไทยยังควบคุมมลพิษจากเครื่องยนต์ด้วยมาตรฐานยูโร 4  ที่มีการอนุภาคฝุ่นระดับ 10 ไมครอน 0.025 กรัมต่อกม. เทียบกับยูโร 5-6 ที่ปล่อยอนุภาคฝุ่นไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกม. รองลงมา คือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การเผาเศษขยะ และกิจกรรมในครัวเรือน