ชีวิตดีสังคมดี

ถอดบทเรียน 'แผ่นดินไหวญี่ปุ่น' อันดามัน ของไทย ยังเสี่ยง 'สึนามิ'

ถอดบทเรียน 'แผ่นดินไหวญี่ปุ่น' อันดามัน ของไทย ยังเสี่ยง 'สึนามิ'

02 ม.ค. 2567

นักวิจัย ถอดบทเรียน 'แผ่นดินไหวญี่ปุ่น' ประเทศไทย อย่าประมาท อันดามัน ยังเสี่ยง 'สึนามิ' ต้องเตรียมรับมือ ไม่ให้ซ้ำรอยปี 2547

“แผ่นดินไหวญี่ปุ่น” ทำให้นักวิจัยไทย ต้องนำมาถอดบทเรียน เพื่อเตรียมรับมือ “สึนามิ” เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยปี 2547 ทั้งระบบเตือนภัยสึนามิ และแผนที่หลบภัยสึนามิ รวมถึงมาตรการ ผลกระทบต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากชายฝั่งทะเลอันดามัน ของประเทศไทย ขณะที่ประชาชนควรเรียนรู้เทคนิคการหลบภัยทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ

  แผ่นดินไหวญี่ปุ่น

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และนักวิจัยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ เปิดเผยว่า “แผ่นดินไหวญี่ปุ่น” ขนาด 7.6 แมกนิจูด ที่จังหวัดอิชิกาวะ บนเกาะฮอนชู ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น ว่า เป็นธรณีพิบัติที่รุนแรงมาก และอยู่ในระดับตื้นมาก เพียง 10 กิโลเมตร ทำให้เกิดความเสียหายกับอาคารบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนเป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 1.2 เมตร ซัดเข้าหาชายฝั่งเมืองวาจิมะ จังหวัดอิชิกาวะ ซึ่งผลของแผ่นดินไหวดังกล่าว จะยังคงเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายวัน แต่ด้วยระยะห่างจากประเทศไทย 4,000-5,000 กิโลเมตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และนักวิจัยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน มี.ค. 2554 ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวโตโฮคุขนาด 9.0-9.1 นอกชายฝั่งด้านตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะ ในเขตโตโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ มีความสูงถึง 40 เมตร พัดเข้าชายฝั่ง จ.เซ็นได เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 20,000 คน และสูญหายอีกประมาณ 2,500 คน มีความรุนแรงมากกว่าแผ่นดินไหวที่อิชิกาวะในครั้งนี้เป็น 10 เท่า แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด 

ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว

สำหรับสึนามิที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ยังถือได้ว่ามีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากจุดกำเนิดคลื่นแผ่นดินไหวในทะเลหรือวงแหวนไฟ อยู่ห่างไกลค่อนข้างมาก แผ่นดินไหวและสึนามิจากประเทศญี่ปุ่น จึงจะไม่กระทบต่อประเทศไทย

 

 

อย่างไรก็ตาม ได้มีการศึกษาแบบจำลองการเกิดสึนามิในอ่าวไทย กรณีเกิดแผ่นดินไหวที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ในแนววงแหวนไฟเช่นกัน แต่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากกว่า โดยสมมติว่าหากเกิดแผ่นดินไหวระดับ 9 อาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิมาถึงชายฝั่งทะเลไทยได้ แต่จะใช้เวลาเดินทางนาน 10-20 ชั่วโมง กว่าจะมาถึงชายฝั่ง และด้วยสภาพทางกายภาพที่ค่อนข้างตื้นของชายฝั่ง ทำให้พลังงานจากคลื่นสึนามิสลายตัวไปส่วนใหญ่ ความสูงคลื่นสึนามิไม่น่าจะเกิน 20-30 เซนติเมตร จึงอาจกล่าวได้ว่า ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยค่อนข้างจะมีความเสี่ยงต่อสึนามิในระดับต่ำ และไม่น่าวิตกกังวล

      ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว

 

ศ.ดร.อมร กล่าวว่า ชายฝั่งด้านตะวันตกของไทย หรือชายฝั่งทะเลอันดามันยังคงมีความเสี่ยงต่อสึนามิอยู่ เนื่องจากแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกอยู่ห่างไปเพียงประมาณ 800-1,200 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าแนวรอยต่อทางฝั่งตะวันออกมาก แนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามัน คือแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียกับแผ่นยูเรเซีย ดังที่ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1-9.3 ที่นอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราเหนือมาแล้ว เมื่อปี 2547 ทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูงถึง 11 เมตร ซัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายถึงเกือบ 9,000 คน ดังนั้น ความเสี่ยงต่อสึนามิในฝั่งทะเลอันดามันจึงเป็นเรื่องที่จะประมาทไม่ได้ การเตรียมความพร้อมรับมือเท่านั้น ที่จะลดความเสี่ยงและความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน 

 

 

ถอดบทเรียน ลดความเสี่ยงเกิด สึนามิ

 

 

  1. ระบบเตือนภัยสึนามิและแผนที่หลบภัยสึนามิ ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิและแผนที่หลบภัยสึนามิในชายฝั่งทะเลอันดามันแล้ว แต่ควรจะซักซ้อมเหตุการณ์เป็นระยะ และตรวจสอบสภาพให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา
  2. มาตรการด้านอาคารและที่หลบภัยแนวดิ่ง เช่น การก่อสร้างอาคารหลบภัยสึนามิทั้งรูปแบบถาวรและแบบชั่วคราว หรือการปรับปรุงอาคารเดิมในพื้นที่ให้ต้านทานแรงสึนามิได้
  3. มาตรการบรรเทาผลกระทบหลังเกิดสึนามิ ซึ่งประเทศไทยไม่ควรประมาทภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศที่ทำให้ประชาชนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ชัดเจน 

สึนามิ

 

ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ แต่สึนามิสามารถแจ้งเตือนภัยได้ โดยประเทศไทยสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาเพียงพอที่จะหลบภัย

 

 

ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยต้องทำงานตามเกณฑ์ที่กำหนด และต้องซักซ้อมเพื่อมิให้เกิดโกลาหล อีกทั้ง แผนที่เสี่ยงภัยที่แสดงเส้นทางหลบภัยจะต้องครอบคลุมพื้นที่และเข้าใจได้ง่าย เส้นทางหลบภัยควรอพยพประชาชนไปสู่ที่สูงตามธรรมชาติ หากเป็นพื้นที่ราบที่ไม่มีที่สูงตามธรรมชาติ ควรจัดให้มีอาคารหลบภัยในบริเวณนั้น โดยการก่อสร้างอาคารหลบภัยทางดิ่ง ทั้งแบบชั่วคราว หรือแบบถาวร หรือการปรับปรุงอาคารหลายชั้นที่มีอยู่เดิมให้แข็งแรงต้านสึนามิได้ ขณะที่ประชาชนควรเรียนรู้เทคนิคการหลบภัย ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ รวมถึงการศึกษาแผนที่หลบภัยสึนามิ เพื่อจะได้ไม่ตระหนกและรู้เส้นทางหลบภัยเมื่อถึงคราวเกิดภัยพิบัติ