เตรียมรับ 'ลมหนาว' อีกระลอก เหนือ-อีสาน 'อากาศเย็นถึงหนาว' กทม. อุณหภูมิลดลง
ภาคเหนือ - ภาคอีสาน เตรียมรับ 'ลมหนาว' อีกระลอก ส่งผลให้มี 'อากาศเย็นถึงหนาว' ขณะที่ กทม. และปริมณฑล อุณหภูมิลดลง
ประเทศไทยตอนบนเตรียมรับ 'ลมหนาว' อีกระลอก จากการจำลองสภาพอากาศจาก ECMWF และ GFS มีความสอดคล้องกันว่า ในช่วงตั้งแต่ 9 - 10 ก.พ. 2567 เป็นต้นไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนแรงจะแผ่ลงปกคลุมประเทศไทยตอนบน โดยเริ่มจากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางตามลำดับ ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจะมีสภาพ 'อากาศเย็นถึงหนาว' ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมี อุณหภูมิลดลง ได้บ้าง
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : ในช่วงวันที่ 1 - 3 ก.พ. 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือมี อุณหภูมิลดลง 2 - 5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2 - 4 องศาเซลเซียส กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 - 3 องศาเซลเซียส ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมี ฝนเล็กน้อย บางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มี ฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 7 ก.พ. 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้ภาคเหนือยังคงมี 'อากาศเย็นถึงหนาว' ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมี อุณหภูมิลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียส ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มี ฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร