รู้จัก 'สีของดาวตก' มีทั้งหมดกี่สี แต่ละสีเรียกอะไร ใช่ อุกกาบาต หรือไม่
รู้จัก 'สีของดาวตก' มีทั้งหมดกี่สี แต่ละสีเรียกอะไร NARIT เฉลย วัตถุประหลาดบนท้องฟ้าที่หลายคนใช่ อุกกาบาต หรือไม่
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เปิดเผยข้อมูลทางดาราศาสตร์ หลังจากที่ โลกโซเชียลแชร์ภาพคล้าย อุกกาบาต ตกลงมาจากท้องฟ้า ในคืนวันที่ 4 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 21.00 น. โซเชียลแชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่ายของลูกไฟสีเขียว ที่พาดผ่านท้องฟ้า มีผู้พบเห็นในหลายจังหวัดแถบภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย ซึ่งเบื้องต้นนี้สามารถคาดการณ์ได้ว่าเป็น ดาวตก ชนิดลูกไฟ (Fireball)
ดาวตก เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็น "สีของดาวตก" ปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ ซึ่งชนกับตัวดาวตกอย่างรุนแรงจนเกิดความร้อนสูง
สำหรับ "สีของดาวตก" คือ อะไร โดย "สีของดาวตก" มาจากแสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี เช่น อะตอมแคลเซียม( Ca) ให้แสงสีออกโทนม่วง อะตอมแมกนีเซียม(Mg) นิกเกิล(Ni) ให้แสงสีฟ้าเขียว อะตอมโซเดียม(Na) ให้แสงสีส้มเหลือง
ในขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน (O) และไนโตรเจน (N) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง ดังนั้น "สีของดาวตก" จึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงขององค์ประกอบแต่ละชนิด และการเปล่งแสงของอากาศโดยรอบตัวดาวตกที่ร้อนจัด ซึ่งมักจะให้แสงสีแดงและสีเขียวเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับความสูงจากพื้นโลก