ชีวิตดีสังคมดี

ปิดช่องว่าง​ 'คนเร่รอน​ไร้บ้าน'​ ให้สิทธิเข้าทะเบียน​บ้านพม.

ปิดช่องว่าง​ 'คนเร่รอน​ไร้บ้าน'​ ให้สิทธิเข้าทะเบียน​บ้านพม.

20 มี.ค. 2566

ปิดช่องว่างคนเร่รอน​-ไร้บ้าน​ ให้สิทธิเข้าทะเบียน​บ้านพม. รับสิทธิสวัดิการตามกฎหมายไทย  ลดความเหลื่อมล้ำ​ให้เข้าถึงสิทธิพึงได้​ 39​ อย่าง​

แม้จะมีชื่อตามทะเบียนบ้าน​ แต่ก็ยังมีหลายคนที่เข้าไม่ถึงสวัดิการแห่งรัฐ หากกล่าวถึงคนเร่ร่อน ไม่เพียงเข้าไม่ถึงสิทธิ​ ทว่าไม่มีแม้ชื่อในระบบทะเบียนราษฎร​์

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)  บอกถึงสถานการณ์​ "คนไร้บ้าน" ทั่วประเทศว่า​ ตัวเลขปีนี้ประมาณ 3-4 พันคน​ เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร​ ประมาณ 1,600 คน​ บางคนเป็นผู้ป่วยทางจิต​ บางคนเป็นคนปกติมีงานทำ​ แต่อาศัยอยู่ใต้สะพาน​ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิได้รับสวัสดิการจากรัฐที่มีทั้งหมด 39 สวัสดิการ​ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม​ เพิ่มโอกาสการมีงานทำ​ สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่า​

ทว่า​ ด้วยข้อจำกัดพวกเขาไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร์​ สิทธิจึงถูกจำกัดทั้งหมด​ วันนี้เพื่อให้พวกเขาได้รับสิทธิเป็นคนไทย​ กระทรวง​ พม.​ จึงได้ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย, กรุงเทพมหานคร​ ค้นหาคนไร้บ้าน​ เพื่อเข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎร์ในทะเบียนบ้านของ​ พม.​

 

"เราไม่บังคับว่าคนเร่ร่อนจะต้องเข้าระบบทุกคน​ เพราะที่ผ่านมามีหลายๆ​ คนที่ต้องการอิสระ​ แต่สำหรับใครที่ต้องการเอกสารทางราชการเพื่อใช้ในการสมัครงาน​  และรับสวัสดิการต่างๆ​ จากภาครัฐ​ วันนี้ สามารถขอเข้าทะเบียนกับพม.ได้เลย​ แต่มีหลักเกณฑ์​เงื่อนไขเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ"

 

สำหรับเงื่อนไขคือ​ ทีมทำงานต้องลงพื้นที่เข้าไปหาผู้นำชุมชน​ เพื่อยืนยันตัวตน​ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม​ และนำข้อมูลมาประชุมทีมสหวิชาชีพ เพื่อพิจารณาให้เข้าทะเบียนบ้าน​

 

ส่วนคุณสมบัติของคนที่จะมีสิทธิเข้าทะเบียนบ้านได้จะต้องมีสัญชาติไทย​ เป็นบุคคลที่ไม่มีประวัติอาชญากรรม​ มีพ่อแม่เป็นคนไทย​ ไม่มีความผิดปกติทางจิตทางรุนแรง​ ไม่เป็นบุคคลที่ติดยาเสพติด​ และติดสุรา​ หากเข้าเกณฑ์ก็สามารถติดต่อได้ที่พม.จังหวัดทั่วประเทศ

 

สำหรับตัวเลขคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร​ นายศานนท์​ หวังสร้างบุญ​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ บอกว่า​ ตัวเลขไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาคือประมาณ 1,600 คน​ ร้อยละ 95 มาในช่วงโควิด19​ ระบาด​ กทม.​ แก้ปัญหาด้วยการช้อนกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้นมา​ ให้อยู่ในจุดที่ได้รับความช่วยเหลือ​ ซึ่งขณะนี้​ กทม.​ให้ความช่วยเหลือด้วยการเปิดจุดแจกอาหาร​ 2​ จุด​ คือใต้สะพานพระปิ่นเกล้า​ และตรอกสาเก​

นอกจากนี้​ ยังมีโครงการบ้านอิ่มใจ​ เพื่อให้กลุ่มคนเร่ร่อนได้มาพักอาศัยชั่วคราว​ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน​ ก่อนมีที่พักเป็นของตัวเอง​ ซึ่งคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะเสร็จในปีงบประมาณ 2567  ส่วนใครที่พอมีกำลังและต้องการที่พักอาศัย​ แต่เงินค่าเช่าไม่พอ​ กทม.ก็มีโครงการออกค่าเช่าให้คนละครึ่ง​ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่

 

สำหรับบ้านเลขที่ที่คนไร้บ้านจะได้รับ​ คือ​ 130​ ตัวเลขดังกล่าวได้มาจากครบรอบ 130 ปีกระทรวงกลาโหม​ ส่วนจะตามด้วยเลขทับอะไรนั้น​ ขึ้นอยู่กับพม.​ แต่ละจังหวัด