วันออทิสติกโลก 2เม.ย. : ยูเอ็นพบในเด็ก 59 คนมีภาวะออทิสซึม 1 คน
องค์การสหประชาชาติ หรือ UN กำหนดให้ทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์เพื่อการตระหนักรู้ออทิสติกโลก (Autism Awareness Day) พบสัดส่วนในเด็ก 59 คน จะพบเด็กที่มีภาวะออทิสซึม 1 คน หรือ สัดส่วน 1:59
มูลนิธิออทิสติกไทยและบริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เปิดเผยกับคมชัดลึกว่า องค์การสหประชาชาติ หรือ UN กำหนดให้ทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็น วันรณรงค์เพื่อการตระหนักรู้ออทิสติกโลก (Autism Awareness Day) ซึ่งกําหนดตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2550
เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักและเห็น ความสําคัญของโรคออทิสติก
ให้เกิดความเข้าใจ เกิดการยอมรับ สร้างความเท่าเทียม และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างมีความสุข
ทั้งนี้ยูเอ็นได้เริ่มต้นการรณรงค์เรื่องนี้มาตั้งแต่ ปี 2550 ซึ่งที่ผ่านมาการรับรู้เกี่ยวกับ ออทิสซึม (autism awareness) ถือว่าเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะรูปแบบของออทิสซึม ที่เด็กแต่ละคนที่เป็นออทิสติกก็มีความแตกต่างกัน หลากหลายรูปแบบ “สิบคนก็สิบแบบ ร้อยคนก็ร้อยแบบ"
โดยปีนี้ยูเอ็นเน้นเรื่องภายใต้แนวคิด “Toward a Neuro-Inclusive World for All” คือ ความพร้อมก้าวสู่โลกที่ ยอมรับความหลากหลายและความแตกต่างของทุกคน
ที่สําคัญยูเอ็น เสนอแนะว่า สังคมควรเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีภาวะออทิสติกใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองของประเทศนั้น และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมต่างๆอย่างเท่าเทียมทั่วถึง รวมถึงสิทธิมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย
สถิติจํานวนเด็กออทิสติกทั่วโลก 1:59
ปัจจุบัน จํานวนบุคคลที่มีภาวะออทิซึมทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสถิติจากการสํารวจของหลายประเทศ พบว่า สัดส่วน เด็กที่มีภาวะออทิซึม ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนในเด็ก 59 คน จะพบเด็กที่มีภาวะออทิสซึม 1 คน หรือ สัดส่วน 1:59
“ออทิสซึม” เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม มีลักษณะโดดเด่น สําคัญคือ เด็กไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น พูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ ให้นึกถึง โรคนี้
เด็กออทิสติกกลุ่มอายุไม่เกิน 5 ปี จะพบ 1 : 161 คน คาดว่า ทั่วประเทศมีประมาณ 18,220 คน และระดับความ รุนแรงของโรคแต่ละคนไม่เท่ากัน
- 10% ของจํานวนที่พบมีความเป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพหรือเล่นดนตรี
- 20% มีไอคิวต่ําที่ระดับน้อยถึงปานกลาง และอาจมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย แต่สามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้
- ส่วนที่เหลือ 70% ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การบําบัดรักษาต้องผสมผสาน ทั้งด้านการส่งเสริม พัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม การส่งเสริมอาชีพ การมีงานทํา-การอยู่ร่วมกันในสังคมของเด็กออทิสติก
ฉะนั้น การพัฒนาศักยภาพเด็กและบุคคลออทิสติก ให้ได้เรียนรู้ ฝึกทักษะด้านอาชีพให้สามารถพึ่งตนเองและ ดํารงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ The Sustainable Development Goals (SDGs) จึงนับได้ว่า เป็นก้าวย่างที่สําคัญ
ในส่วนของประเทศไทย มีข้อมูลจากมูลนิธิออทิสติกไทย ระบุว่า มีผู้เป็นออทิสติกกว่า 3 แสนคน หรือทุกๆ 1,000 คน พบผู้ป่วยออทิสติก 6 คน และดูเหมือนว่าแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากเรื่อยๆ เช่นกัน
ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีบุคคลออทิสติก ลงทะเบียนขอมีประจําตัวคนพิการ จํานวนเพียง 20,000 คน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูลว่า การทําบัตรคนพิการ สิทธิ สวัสดิการ และการรับบริการต่างๆจากภาครัฐ รวมถึงระบบการออกเอกสารใบรับรองความพิการด้านออทิสติกมีข้อจํากัด
ทำให้การเข้าถึงสิทธิยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในด้านการมีงานทํา การอยู่ร่วมกันในสังคมของเด็กออทิสติ ในบ้านเราบุคคลที่เป็นออทิสติกมีไม่ถึง 200 คนที่มีงานทํา และมีรายได้ เลี้ยงดูตนเอง
ช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มได้ยินข่าวภาคธุรกิจหลายแห่งเปิดโอกาสให้บุคคลที่เป็นออทิสติก เข้ามาทํางาน เรียนรู้ เติมประสบการณ์ และใช้ความสามารถ ทั้งที่ร้านกาแฟ For All Coffee ร้าน Art Story By Autistic Thai ภายใต้บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด ซึ่งได้รับการจดทะเบียนจากสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
และยังมีธุรกิจเอกชน อย่างร้าน True Coffee นั้น True Coffee ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทยพัฒนา "บาริสต้า ออทิสติก " บรรจุเข้าทํางาน ใน True Coffee Shop ร้าน True Coffee หรือภาคราชการ
ก่อนหน้านี้ก็มีประกาศของกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตก็ประกาศ เปิดรับ สมัครผู้พิการทางออทิสติกเข้าทํางานแต่ทว่า เมื่อคิดอัตราส่วนของภาคเอกชนและภาคราชการรวมกันแล้ว ดูยังไม่มากพอ และ เป็นประเด็นที่ต้องคอยเติดตาม เพื่อให้ประตูสู่โอกาส เปิดอยู่เสมอๆ
โดยในปี 2566 นี้เครือข่ายสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซืม (ไทย) และ มูลนิธิออทิสติกไทย ร่วมกันจัดงานรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก "World Autism Awareness Day 2023" ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน ภายใต้แนวคิด “Toward a Neuro-Inclusive World for All”
คือ ความพร้อมก้าวสู่โลกที่ยอมรับความหลากหลายและความแตกต่างของทุกคนทั้งระดับครอบครัว, ระดับชุมชน, ระดับสถานที่ทำงาน รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย ให้ก้าวผ่านความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงบุคคลออทิสติก มาเป็นการยอมรับและสนับสนุนให้พวกเขาได้เข้าถึงสิทธิของตนเอง
เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจ และช่วยกันส่งเสริมให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุดเหมือนที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ พร้อมตอกย้ำเจตนารมณ์ยืนหยัดเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมของบุคคลออทิสติก
โครงการวันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก ที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2566 เวลา 09.00-16.00 น. ณ มูลนิธิออทิสติกไทย (กรุงเทพมหานคร)
รับชมการถ่ายทอดสด คลิกที่รูปด้านล่าง