สงกรานต์ปีนี้! เอกชนหยุด 5 วันจริง? ลูกจ้างเช็กด่วนนายจ้างหยุดงานตามกม.ไหม
สงกรานต์ปีนี้หยุด 5 วันจริงไหม แรงงานลุ้นนายจ้างทำตามมติครม.หยุด 13-17 เม.ย.66 ด้านกระทรวงแรงงานขอความร่วมมือนายจ้างหยุดตามมติ ให้แรงงานกลับไปหาครอบครัวยาวต่อเนื่อง
เทศกาล "สงกรานต์ปีนี้" คนทำงานไกลบ้านคงอยากอยู่บ้านให้นานที่สุด กลุ่มข้าราชการได้ร้องเฮดีใจ เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติกำหนดให้วันที่ 13 ถึงวันที่ 15 เม.ย. ปี 2566 เป็นวันหยุดราชการประจำปีวันสงกรานต์ และกำหนดให้วันที่ 17 เม.ย. ปี 2566 เป็นวันหยุดชดเชย ทำให้วันหยุดเชื่อมโยงกัน 5 วันติด
คำถามก็คือว่า "แล้วบริษัทเอกชนหยุดเหมือนกันไหม" แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับ "นายจ้าง" กำหนด แต่เบื้องต้น "กระทรวงแรงงาน" ได้ร่อนหนังสือขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างหยุดงานตามประกาศ เพื่อให้คนผู้ใช้แรงงานได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ภูมิลำเนาของตนเองยาวต่อเนื่อง
"นายชาลี ลอยสูง" บอกในฐานะผู้ใช้แรงงานบริษัทเอกชนว่า วันหยุดตามประเพณีปฏิทินราชการกับปฏิทินเอกชนไม่สอดคล้องกัน เป็นปัญหาหนึ่งสำหรับครอบครัวที่ทำงานต่างสายงาน เช่น ภรรยาทำงานรับราชการ สามีเป็นพนักงานบริษัทเอกชน การเดินทางไปไหนมาไหนยาวๆ ต้องวางแผนให้ดี เพราะหยุดไม่ตรงกัน หากเอกชนหยุดตามราชการจะเป็นเรื่องดีมาก ยกตัวอย่าง "สงกรานต์ปีนี้" ตัดปัญหาวันหยุดไม่ตรงกันได้เลย แต่เป็นไปได้ยากและอาจเป็นไปไม่ได้เลยที่ปรับเป็นกฎหมาย เพราะผู้ประกอบการไม่ยอมแน่นอน บริษัทมีข้ออ้างว่าเสียโอกาสการแข่งขัน ลายผลิตหยุดสายพานไม่ได้เพราะสินค้าจะออกจำหน่ายไม่ทัน แต่มีความเป็นไปได้ที่หยุดตามราชการ โดยเอกชนปรับปฏิทินให้สอดคล้องกับปฏิทินราชการ กางแผนวันหยุดราชการกำหนดเป็นปฏิทินเอกชน
"โอกาสปรับให้เหมือนกันทั่วประเทศเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ประกอบการไม่ยอม เรื่องที่แรงงานต่อสู้ให้มีสหภาพแรงงานทุกบริษัทระบุในกฎหมายยังไม่ได้เลย นายจ้างคัดค้านมาตลอด เรื่องวันหยุดคัดค้านแน่นอน ยิ่งภาครัฐทำงานอยู่แต่ในห้อง ไม่ลงมาดูปัญหาเลย จะทำให้รัฐทำงานยากขึ้น รัฐต้องทำงานเชิงลุก ผมชอบแบบรัฐมนตรีสุชาติ รับฟังปัญหาและแก้ไข้ทันที ตัดระบบเช้าชาม เย็นชามออกให้หมด" นายชาลี ให้ความเห็น
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุไว้ว่า "นายจ้าง" ต้องประกาศกำหนดวันหยุด อย่างน้อยปีละ 13 วัน รวมวันแรงงานแห่งชาติแล้ว โดยได้รับค่าจ้าง หากวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ลูกจ้างจะได้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป กรณีนายจ้างไม่อาจหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลักษณะหรือสภาพงานตามที่กฎหมายกำหนด เช่น งานในโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล สถานบริการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง เป็นต้น นายจ้างลูกจ้างอาจตกลงได้ว่า จะให้ "ลูกจ้าง" หยุดวันอื่นชดเชยหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แทนก็ได้ ตามมาตรา 29 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 4
บางบริษัทยึดตัวเลข 13 วันเป็นเกณฑ์ อาจกำหนดวันหยุดชดเชยไม่ครบตามจริง เช่น "วันสงกรานต์" ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์หรือตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ บริษัทต้องชดเชยวันหยุด 2 วัน แต่กลับให้หยุดชดเชยเพียงวันเดียวก็ไม่ผิดอะไร ในขณะที่บางบริษัทให้หยุดยาวได้เต็มพิกัด ทำให้มีวันหยุดประจำปีรวมแล้ว 14 วันบ้าง 15 วันบ้างถือเป็นโชคดีของพนักงานบริษัทนั้นไป
คำถามต่อไป คือ หากบริษัทไม่กำหนดวันหยุดจะเกิดอะไรขึ้น กฎหมายคุ้มครองแรงงานระบุไว้ ว่า "นายจ้าง" มีความผิดและมีโทษทางอาญา ตามมาตรา 146 และต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 64
กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้อง มาตรา 28 ให้ "นายจ้าง" จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวันนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้
ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดารหรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
มาตรา 29 ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้า 1 ปี ไม่น้อยกว่า 30 วันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ให้ "นายจ้าง" พิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ส่วนวันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป
มาตรา 30 "ลูกจ้าง" ซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 6 วันทำงานก็ได้
นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อๆ ไปได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้
มาตรา 64 ในกรณีที่ "นายจ้าง" มิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือจัดให้ "ลูกจ้าง" หยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 62 และมาตรา 63 เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด
มาตรา 146 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มาตรา 45 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 65มาตรา 66 มาตรา 73 มาตรา 74 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มาตรา 77 มาตรา 99 มาตรา 105 วรรคสอง มาตรา 108 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 117 หรือไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 120 มาตรา 121 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 139 (2) หรือ (3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท